Monday, July 25, 2016

เล่าเรื่องเก่า โยงเรื่องใหม่ (ตอน ๑๐) - ๖ เมษายน ๒๕๕๙


๖ เมษายน ๒๕๕๙

ผู้ชมโปรดอ่าน : เล่าเรื่องเก่า โยงเรื่องใหม่ (ตอน ๑๐)

 

หนังสือ “พระสมเด็จบางขุนพรหมที่หายไป” เล่าถึงเหตุการณ์ที่มีคนลอบเข้าไปขุดเจดีย์ใหญ่วัดบางขุนพรหมในถึงสองครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน ก่อนทางวัดจะเปิดกรุเป็นทางการต่อมา

ถ้าข้อมูลของผู้รู้เหตุการณ์ครั้งลอบขุดกรุเป็นจริง รวมทั้งพระสมเด็จจำนวนมากที่ผู้เขียนได้พบเป็นสมเด็จบางขุนพรหมทั้งกล่อง

เท่ากับศักราชใหม่ของการศึกษาพระสมเด็จที่ผู้เขียนเรียกว่า “พระสมเด็จวิทยา” ได้เริ่มขึ้นแล้ว

เพราะพระสมเด็จแต่ละองค์มีเรื่องเล่ามากมายทั้ง พิมพ์ทรง เนื้อหา และคราบกรุ หรือจะเล่าตามพื้นฐานขั้นต้นทั้ง ๗ ที่ผู้เขียนสรุปไว้ใน AmuletEZ Level 1 ก็สามารถเขียนได้เป็นหน้า ๆ แบบเดียวกับที่คุณประเสริฐศักดิ์สมาชิกท่านหนึ่งของเราได้เล่าไว้

สายพุทธพาณิชย์มองพระแต่ละองค์เหมือนมองธนบัตรหรือเงินสด ดูว่ามี “มุม” หรือช่องทางจะขายได้หรือไม่ ถ้าดูแล้วมีมุมของแบ๊งค์ แม้พระจะไม่แท้เขาก็ซื้อ เพราะเห็นโอกาสในการซื้อขาย ต่างกับสายวิชาการที่จะศึกษาด้านศิลปะ พิมพ์ทรง ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ ก่อนจะสรุปว่าพระองค์นั้นเป็นอย่างไร ผ่าน หรือไม่ผ่าน

เป็นการวิเคราะห์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่พระสมเด็จทุกองค์ที่นำมาพิจารณาด้วยหลักวิชาและขบวนการตรวจสอบ

ไม่ใช่มองปุ๊บ บอกปั๊บ ว่าพระแท้หรือไม่แท้

ถามจริง ๆ คนที่เราเอาพระไปให้ดูที่เรียกกันว่า “เซียนพระ”นั้น แต่ละท่านเก่งกาจมาจากไหน มีความรู้หรือผ่านการศึกษาหรืออบรมมาจากที่ใด ส่วยใหญ่เป็นแค่ “คนขายพระ” ไม่ใช่ “นักพระสมเด็จวิทยา” ซึ่งเป็น “คนศึกษาพระ”

ถ้าวงการพระมี “นักพระสมเด็จวิทยา” อยู่บ้าง คงไม่เงียบเหงาเช่นทุกวันนี้

เพราะวิทยาการก้าวหน้าไปตามผู้ศึกษาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เหมือนเศรษฐกิจที่มีการขึ้น ๆ ลง ๆ ตามวงจรวัฏจักรของหลักเศรษฐศาสตร์สายวิชาการจะรวบรวมเรื่องราวของพระสมเด็จแต่ละองค์มาเป็นฐานความรู้ก่อนจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนให้รู้ว่าวงการพระเครื่องยังมีเรื่องของวิชาการอยู่บ้าง

พระตระกูลสมเด็จหลายสิบล้านองค์ก็จะมีเรื่องเล่าหลายสิบล้านเรื่อง วงการพระเครื่องก็จะคึกคักไปด้วยบรรยากาศของความรู้ แทนที่จะซบเซาตามสภาพเศรษฐกิจ

เรื่องเล่าหรือเนื้อหาเหล่านี้ฝรั่งเรียกว่าคอนเท้นท์ (content) ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ตอนไปทำงานอเมริกาลูกสาวฝากซื้อหนังสือการตลาดชื่อ Content Rules มาถึงตอนนี้ก็ ๕ ปีเข้าไปแล้วที่เห็นชัดว่าการตลาดเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทุกผลิตภัณฑ์ไม่ว่าสินค้าหรือบริการที่ขาย ต้องมีเนื้อหา (content) ที่สามารถจับประเด็นมาเล่าประกอบการขายได้

มีแต่สายพุทธพาณิชย์เท่านั้นที่ขายพระโดยไม่มีเนื้อหาหรือเรื่องเล่าของพระองค์นั้น ไม่นับการรับรองอย่างลม ๆ แล้ง ๆ ของผู้ขาย

อย่างมากมีแค่ใบประกาศจากงานประกวด ใบเซอร์หรือใบรับรองจากบุคคล สถาบันแอบอ้าง หรือเว็บไซต์ขายพระ ซึ่งเป็นแค่กระดาษหรือแผ่นพลาสติกเล็ก ๆ ใบหนึ่งเท่านั้น วุฒิบัตรการศึกษาหรือใบปริญญายังต้องอ้างถึงหลักสูดรการสอนหรืออบรมภายใต้มาตรฐานของสถาบัน ส่วนใบประกาศหรือใบเซอร์มีใครรับรองบ้าง

เรื่องเล่าหรือเนื้อหาต่างหากที่วงการพระต้องการ พระสมเด็จบางขุนพรหมที่หายไปก่อนเปิดกรุจะเป็นข้อมูลที่รอการศึกษา วิเคราะห์ ก่อนสรุปเป็นความรู้ใหม่ให้ผู้สนใจพระสมเด็จได้รับทราบ ข้อมูลเหล่านี้จะมาแทนที่ข้อมูลเก่า ๆ เดิม ๆ ที่คัดลอกกันมาซ้ำ ๆ ซาก ๆ ตั้งแต่สมัยตรียัมปวายเขียนเรื่องพระสมเด็จ

ข้อมูลจากหนังสือตรียัมปวายยังตีความไม่ถ่องแท้ รูปพระถึงแม้จะไม่ชัดเจนยังถูกกล่าวหาจากสายพุทธพาณิชย์ว่าไม่ใช่ ประเด็นนี้ประเด็นเดียวเท่ากับวงการพระเครื่องถอยหลังเข้าคลอง เพราะ ๖๕ ปีมาแล้วนับแต่ตรียัมปวายวิเคราะห์เรื่องพระสมเด็จ ข้อมูลเรื่องพระสมเด็จไม่มีอะไรใหม่ ถ้าเปรียบเหมือนน้ำในคลองที่ไม่มีการเพิ่มเติมหรือหมุนเวียน ป่านนี้กลายเป็นน้ำเน่าไปแล้ว

รู้ไหมว่าข้อมูลในโลกการตลาดยุคดิจิตอลเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก ๆ ๖ เดือน

หนังสือ “พระสมเด็จบางขุนพรหมที่หายไป” จะเป็นเหมือนกุญแจไขไปสู่ขุมทรัพย์ข้อมูลอันมหาศาลจากการเปิดเผยความลับของผู้อยู่ในเหตุการณ์ลอบขุดกรุที่เก็บเงียบไว้กับตัวเองมาเกือบ ๖๐ ปี

ความลับเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ผู้เขียนจะทยอยเล่าให้ฟังต่อไป

......................................... จบตอน ๑๐ ...........................................

 

No comments:

Post a Comment