Friday, August 5, 2016


๕ สิงหาคม ๒๕๕๙ : ตัวอย่างพระลงหนังสือ (๓)

ผู้เขียนไปวัดระฆังเป็นประจำ เพื่อกราบรูปปั้นสมเด็จโตเท่าตัวจริงในศาลา หรือชมความงามของพระประธานในโบสถ์

มีผู้มีจิตศรัทธาพิมพ์คาถาชินบัญชรแจกอยู่ไม่ขาดสาย มีอยู่ฉบับหนึ่ง “แจกฟรีเพื่อเป็นวิทยาทาน จาก หจก. ยุวพรพริ้นติ้ง” เป็นแผ่นพับในเล็ก ๆ ปกหน้าหลังกางออกมาเป็นรูปสมเด็จโตนั่งเทศน์บนธรรมมาสน์ กับรูปพระสมเด็จวัดระฆังองค์หนึ่งที่ไม่ทราบที่มาที่ไป ไม่มีเบอร์ติดต่อแบบการลงหนังสือพระสมเด็จของสายพุทธพาณิชย์ในปัจจุบัน
 

ผู้เขียนเคยสงสัยอยู่เหมือนกัน ว่าคนพิมพ์ไปเอาพระองค์นี้มาจากไหน เพราะไม่เคยเห็นพระพิมพ์นี้มาก่อน

วันนี้มีคำตอบ เพราะพระองค์หนึ่งใน ๖๘ องค์ที่ผู้เขียนนำลงหนังสือ เป็นพระพิมพ์ใกล้เคียงกัน แม้องค์ปกแผ่นพับจะเป็นรูปขาวดำ แต่ท่านผู้อ่านสังเกตให้ดี รายละเอียดของพิมพ์น่าจะมาจากแม่พิมพ์เดียวกัน

พระองค์นั้นคือพระสมเด็จองค์ ๑.๑๗ นั่นเอง เปรียบเทียบให้เห็นกันชัด ๆ


...........................................................

คำบรรยายพระองค์นี้ในหนังสือ พระสมเด็จบางขุนพรหมที่หายไป

องค์ ๑.๑๗

 
 


พิมพ์ทรง

พิมพ์วัดระฆังคลาสสิก พิมพ์เดียวกับองค์ปกแผ่นพับคาถาชินบัญชรสีชมพูที่วัดแจก เป็นพิมพ์ยุคสองปลายที่เริ่มมีกรอบ เส้นสายหนา ลึก ซุ้มชะลูด เอียงไปทางขวา แตะกรอบบริเวณฐานกลาง หน้ายังกลมใหญ่ เกศกรวยแหลม อกแคบ เอวเล็ก ลำตัวเป็นรูปห้าเหลี่ยม หน้าตักหนา แคบ งอนรับเข่า ฐานบนทอดรับตัก ฐานกลางเอียงตาม ฐานล่างปลายขวาแหลมยื่นหาซุ้ม

เนื้อหา

เนื้อขาวคราบเหลือง ปูนนุ่ม คราบกรุปานกลาง หลังกาบหมากแนวนอน ด้านหน้ามีคราบบาง ๆ ปกคลุม ทับด้วยคราบสีน้ำตาลบริเวณแขนซ้าย เข่าขวา คราบปูนหยดสีน้ำตาลแก่ข้างสองแขน ปูนเดือดใกล้แขนซ้าย ด้านหลังมีคราบบาง ๆ เห็นรอยกาบหมาก คราบสีน้ำตาลตอนบน

********************************************

Tuesday, August 2, 2016


๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ : ตัวอย่างพระลงหนังสือ (๒)

เจ้าคุณเที่ยง หรือพระธรรมธีรราชมุนี (เที่ยง อัคคธัมโม ปธ ๙) เป็นพระเถระผู้ใหญ่ และนอกจากเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังแล้ว ท่านยังเป็นเจ้าคณะภาค ๑๑ ท่านเขียนหนังสือเกี่ยวกับสมเด็จโตที่มีคนนำไปลงหนังสือหลายเล่ม

ท่านมีพระสมเด็จอยู่องค์หนึ่งที่ท่านโชว์รูปไว้ในกุฏิ รู้จักกันดีในชื่อ “พระสมเด็จเจ้าคุณเที่ยง”



รูปนี้ ถ้านำไปให้เซียนพระสมเด็จดูโดยไม่บอกว่าพระของใคร คงไม่พ้นถูกตีว่าไม่ใช่ หรือไม่ก็เป็นพระไม่แท้ เพราะทั้งเนื้อและพิมพ์ไม่ตรงกับพระสมเด็จที่เซียนเล่นหากันแพง ๆ ในปัจจุบัน

คำถามจึงมีอยู่ว่า “พระสมเด็จเจ้าคุณเที่ยง ใช่พระสมเด็จวัดระฆังหรือไม่”

ผู้เขียนมีคำตอบว่า “ใช่”

พระของท่านเป็นพระสมเด็จวัดระฆังยุคสอง ที่ยังไม่มีกรอบบังคับพิมพ์

หลักฐาน คือ พระองค์ ๑.๑๔ ที่นำมาเปรียบเทียบกับ พระสมเด็จเจ้าคุณเที่ยง ให้เห็นกันชัด ๆ


.............................................................

คำบรรยายพระองค์นี้ในหนังสือ พระสมเด็จบางขุนพรหมที่หายไป

องค์ ๑.๑๔

 
 


พิมพ์ทรง

พิมพ์วัดระฆังคลาสสิก พิมพ์เดียวกับพระเจ้าคุณเที่ยงใส่กรอบโชว์ในกุฏิ มือช่างชาวบ้าน ไม่มีกรอบ ซุ้มหนา แคบ เอียงไปทางซ้าย องค์พระหนา หน้ากลมนูนใหญ่ เกศกรวยสั้น เรียวแหลม ไหล่ซ้ายสูงกว่าขวา ลำตัวรูปห้าเหลี่ยม อกกว้าง เอวหนา หน้าตักหนา งอนรับเข่า ฐานหนาทั้งสามฐาน ปลายชี้ไปคนละทาง

เนื้อหา

เนื้อขาวอมเหลือง ปูนนุ่ม คราบกรุน้อย หลังปาดเรียบ ด้านหน้ามีคราบสีน้ำตาลปกคลุมทั่ว เม็ดมวลสารบริเวณหน้า ฐานกลางขวา รอยหดตัวเป็นตามุ้งเป็นแนวใต้คราบกรุ แสดงให้เห็นความเก่าของเนื้อ ด้านหลังเหมือนด้านหน้า มีรอยลานให้เห็นเป็นเส้นไขว้ไปมา มวลสารเม็ดละเอียดเห็นประปราย

********************************************

Saturday, July 30, 2016


๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๙ : ตัวอย่างพระลงหนังสือ (๑)
 

พระสมเด็จเป็นพระเนื้อผงรุ่นเก่า อายุอย่างน้อย ๑๔๕ ปี สร้างที่วัด กดด้วยมือ ไม่ใช่ใช้เครื่องกดที่โรงงาน

ดังนั้น ความแตกต่างจึงไม่ใช่มีแต่พิมพ์ทรงอย่างเดียว เนื้อหาก็ต่างกันทุกองค์ด้วย

ถึงมาจากแม่พิมพ์เดียวกัน แค่สร้างต่างครกต่างเวลา เนื้อก็ต่างกัน

ในครกเดียวกัน ก็อยู่ที่เนื้อปูนตอนกดพระ เหลวหรือแห้ง มวลสารติดเนื้อมา มากหรือน้อย

คนกดก็สำคัญ ถ้าตั้งใจ พระจะออกมาสวย เนื้อเต็มพิมพ์ ตอนนำพระออกมาตัดขอบ ถ้าประณีต พระจะได้สัดส่วน

จากนั้นขึ้นอยู่กับการเก็บรักษา ไม่ว่าจะใช้บูชา ขึ้นหิ้งพระ หรือลงกรุ

ดังนั้น การบรรยายภาพพระจึงควรบรรยายถึงเนื้อพระด้วย ไม่ใช่พูดแต่พิมพ์อย่างเดียว

พระที่นำมาเป็นตัวอย่างองค์แรก เป็นพิมพ์บางขุนพรหมที่มีเส้นสายบาง แต่มีกรอบบังคับพิมพ์เหมือนพระสมเด็จยุคสอง ฝีมือแกะพิมพ์แบบช่างชาวบ้าน

องค์ที่ ๑.๑




พิมพ์ทรง

พิมพ์มาตรฐานบางขุนพรหมฝีมือช่างหลวง มีกรอบบังคับพิมพ์ ซุ้มบาง ได้สัดส่วน เอียงไปทางซ้าย แตะกรอบบริเวณเข่าซ้าย องค์พระนั่งตรง สง่างาม  หน้าเมล็ดงา เกศเรียวยาว ปลายสะบัด มีเส้นคอ ลำตัวเป็นรูปห้าเหลี่ยม  แขนซ้ายยาว แขนขวาสั้น มีชายจีวร หน้าตักตรง ฐานกลางปลายขวาเชิดขึ้น ฐานล่างขวาเล็กเรียว ชนซุ้ม

เนื้อหา

เนื้อขาวคราบเหลือง แก่ปูน คราบกรุน้อย หลังปาดเรียบ ด้านหน้ามีคราบบาง ๆ ทับคราบน้ำมันตังอิ้ว ปูนเดือดใกล้ซุ้มซ้าย และศอกขวา ด้านหลังเนื้อแบบเดียวกัน ปูนเดือดติดขอบซ้ายบน รอยยุบ ย่น กระจายไปทั่ว เนื้อสวยทั้งหน้าและหลัง

 

********************************************

Wednesday, July 27, 2016

สารบัญหนังสือ - ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๙


๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๙ : สารบัญหนังสือ

 

หนังสือ พระสมเด็จบางขุนพรหมที่หายไป มีมากกว่าหนังสือพระสมเด็จทั่วไป

ประการแรก ส่วนที่เป็นบทความพูดถึงความรู้พื้นฐานที่เข้าใจกันผิด ๆ มานาน เช่น

o    สมเด็จโตเป็นลูกเจ้าหรือไม่

o    วัดบางขุนพรหมใน (วัดใหม่อมตรส) เป็นวัดเดียวกับ วัดบางขุนพรหมนอก (วัดอินทรวิหาร) ก่อนจะมีการตัดถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ จึงแยกออกเป็นสองวัด ใช่หรือไม่

o    พระสมเด็จบางขุนพรหมสร้าง ๘๔,๐๐๐ องค์ จริงหรือ

o    ถ้าจริง ทำไมตอนเปิดกรุพบแค่ ๒,๙๕๐ องค์

บทความที่น่าตกใจที่สุด เพราะอาจพลิกฟ้าคว่ำดิน เหมือนแผ่นดินไหวเกิดกับวงการพระเครื่อง คือ ความลับที่ผู้เขียนจะเปิดเผยถึงการลอบขุดกรุทั้งสองครั้ง ก่อนทางวัดตัดสินใจเปิดกรุเป็นทางการ

ประการที่สอง ส่วนที่เป็นรูปพระ เป็นพระหน้าใหม่ที่ไม่เคยลงที่ไหนมาก่อน ถ่ายรูปพร้อมกันในครั้งเดียวกันด้วยกล้องดิจิตอลระดับโปร ไม่ใช่รูปพระที่เป็นอัดเป็นรูปโปสการ์ด เก็บสะสมไม่รู้ว่านานเท่าไหร่ค่อยนำมาสแกนเป็นไฟล์ดิจิตอล สีถึงได้เพี้ยน พระองค์เดียวกัน เล่มหนึ่งสีหนึ่ง อีกเล่มอีกสี

ประการที่สาม การบรรยายภาพพระ เป็นการบรรยายอัตลักษณ์ หรือสิ่งที่แตกต่างออกไป และเป็นลักษณะพาะตัวของพระองค์นั้น ไม่ใช่บรรยายเปะปะไปหมด เอาพุทธศิลปฺมาปนกับเอกลักษณ์ของพิมพ์ ส่วนอัตลักษณ์ก็ลบหลู่ เรียกให้พระเสียหายว่าเป็น “ตำหนิ”

 

ครั้งหน้าครับ จะมีตัวอย่างของพระสมเด็จที่ลงในหนังสือให้ท่านชม

................................................................


********************************************

Monday, July 25, 2016

สิ้นสุดการรอคอย สำหรับหนังสือพระสมเด็จเล่มแรก - ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙


๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙ : สิ้นสุดการรอคอย สำหรับหนังสือพระสมเด็จเล่มแรก

ผู้เขียนเพิ่งบรรยายภาพพระสมเด็จองค์ที่ ๖๘ เสร็จ

ต่อไปจะเป็นการนำคำบรรยายไปลงในต้นฉบับที่ทำจากโปรแกรม Indesign แล้ว ตรวจปรู๊ฟ ทำกราฟฟิกดีไซน์ขั้นสุดท้าย จากนั้นค่อยส่งโรงพิมพ์

ชื่อหนังสือ   : พระสมเด็จบางขุนพรหมที่หายไป ภาคความลับ : เล่ม ๑

ขนาด          : B5 (๑๗๕ x ๒๕๐ มม)

จำนวนหน้า : ๒๒๔ หน้า (ไม่รวมปก)

วางตลาด    : ต้นเดือนตุลาคม ๒๕๕๙

.................................................................

 

********************************************

เปิดเผยความลับ (ตอน ๑) - ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙


๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙

เปิดเผยความลับ (ตอน ๑)

วันนี้เป็นวันคล้ายวันมรณภาพของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ครบรอบ ๑๔๔ ปี

เป็นวโรกาสอันดีที่จะเปิดเผยความลับเกี่ยวกับพระสมเด็จบางขุนพรหมที่ถูกเก็บงำไว้เป็นเวลา ๕๙ ปี

ความลับนี้เป็นสาเหตุให้ความรู้เกี่ยวกับพระสมเด็จได้ขาดหายไปจากการศึกษาพระของท่าน นำไปสู่การจำกัดพิมพ์ทรงอันหลากหลายที่มีบันทึกสืบเนื่องกันมา จนเหลือไม่กี่พิมพ์ที่เล่นหาเป็นพิมพ์นิยม ที่เหลือไม่ได้รับการยอมรับเพราะขาดหลักฐานยืนยัน

เท่ากับเป็นการสนองเจตนารมณ์ของคนกลุ่มเดียวที่มีใจคับแคบ ต้องการให้พระสมเด็จมีจำนวนน้อยลง ราคาพระสมเด็จจึงพุงทะยานจนเกินกว่ากำลังทรัพย์ของคนทั่วไปที่ศรัทธาพระของท่าน มีแต่คนมีเงินเท่านั้นที่จะเช่าบูชาได้ เพราะราคาสูงเกินหลักล้านแล้ว

ที่ศาลาประดิษฐานรูปหล่อเท่าตัวจริงของท่านในวัดระฆัง มีผู้ไปกราบไหว้ท่านนับพันคนทุกวัน แต่จะมีสักกี่คนที่ได้มีโอกาสได้พระของท่านไว้บูชา ได้แต่สวดคาถาชินบัญชรกับขอพรจากท่านอย่างเดียว

วันนี้เป็นการตอบโจทย์ที่ถามกันว่า พระสมเด็จที่ว่ากันว่าเสมียนตราด้วงสร้างพระไว้ ๘๔,๐๐๐ องค์นั้น จริงหรือไม่

คำตอบก็คือจริง

ความลับอีกประการหนึ่งคือ พระในกรุมีมากกว่า ๘๔,๐๐๐ องค์ เสียอีก เนื่องจากผู้ต้องการร่วมบุญจากวัดข้างเคียง เช่นวัดระฆัง วัดอินทร์ นำพระที่สร้างไว้ก่อนหน้านั้นมาร่วมบรรจุกรุด้วย

แต่ถ้ามีพระในกรุมากมายขนาดนั้น ทำไมตอนเปิดกรุเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงพบพระสมเด็จในสภาพสมบูรณ์เพียง ๒,๙๕๐ องค์

ข้อเท็จจริงคือ พระถูกลอบขโมยขุดออกไปสองครั้งก่อนหน้านั้น

ครั้งแรก เจดีย์ไม่เสียหาย ไม่ทราบว่าใครเป็นคนขโมย ไม่รู้ว่าเอาออกไปได้เท่าไหร่

ครั้งที่สอง เจดีย์ถูกเจาะเป็นโพรง พระถูกนำออกไปจำนวนมาก ทำให้ทางวัดตัดสินใจเปิดกรุเป็นทางการ

การลอบขโมยขุดทั้งสองครั้งมีผู้รู้เห็นในเหตุการณ์ที่อายุมากแล้ว ยินดีเปิดเผยความลับ แต่ไม่เปิดเผยนาม เพื่อให้ความลับนี้ไม่ตายตามตัว

เป็นการเปิดมรดกแห่งความรู้ให้คนรุ่นหลังที่สนใจในพระสมเด็จจะได้ทราบความจริงและเบื้องหลังทั้งหมดที่ถูกปกปิดมาเป็นเวลาเกือบหกสิบปี อันได้แก่

๑.พระสมเด็จที่ถูกขโมยขุดออกไป มีจำนวนเท่าไหร่ หลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่น

๒.มีเฉพาะพิมพ์บางขุนพรหมอย่างเดียว หรือมีพิมพ์อื่นด้วย

๓.สภาพคราบกรุบางขุนพรหม เป็นอย่างไร ต่างกับคราบกรุอื่นหรือไม่

๔.เนื้อพระเป็นแบบไหน มีสีอะไรบ้าง

คำตอบของคำถามข้างบน ผู้เขียนจะนำมาเฉลยเป็นคราว ๆ รับรองว่าทั้งเรื่องและรูปถ่ายจะทำให้ท่านตะลึงทีเดียว

โปรดอดใจรอ

******************************************จบตอน ๑

เล่าเรื่องเก่าโยงเรื่องใหม่ (ตอน ๑๒) - ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙


๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙

ผู้ชมโปรดอ่าน : เล่าเรื่องเก่าโยงเรื่องใหม่ (ตอน ๑๒)

 

วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดสมเด็จโต

ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ นับถึงวันนี้ก็ ๒๒๘ ปีเข้าไปแล้ว

ท่านเป็นคนตัวเล็ก แต่ใจใหญ่ ไม่นับพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ท่านสร้างไว้หลายวัด พระสมเด็จที่ท่านสร้างมีมากมายเกินแสนองค์ ตรียัมปวายเขียนไว้ถึงบั้นปลายชีวิตของสมเด็จโต ท่านเป็นห่วงว่าจะสร้างพระไม่ครบ ๘๔,๐๐๐ องค์ตามพระธรรมขันธ์สำหรับพระชุดที่สอง เพราะพระชุดแรกท่านสร้าง ๘๔,๐๐๐ องค์นั้นบรรจุไว้ในองค์พระพุทธมหาพิมพ์ที่วัดไชโย อ่างทอง เรียบร้อยแล้ว

ยังไม่นับพระสมเด็จอีก ๘๔,๐๐๐ องค์ที่เสมียนตราด้วงขออนุญาตสร้างเพื่อบรรจุในเจดีย์ใหญ่วัดบางขุนพรหมใน

 

ความลับประการที่สองที่จะเปิดเผย คือ ในเจดีย์ใหญ่บางขุนพรหมมีพระมากกว่า ๘๔,๐๐๐ องค์

สายพุทธพาณิชย์ไม่เชื่อข้อมูลนี้แน่นอน

ในหนังสือเรื่องพระสมเด็จบางขุนพรหมที่พวกเขาทำแจกงานประกวดที่อยุธยา บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมกันทำหนังสือยังตั้งข้อสงสัยว่าเสมียนตราด้วงอาจสร้างไม่กี่พันองค์ หรืออย่างมากก็หลักหมื่นไม่ถึง ๘๔,๐๐๐ องค์เสียด้วยซ้ำ

ไม่รู้เขียนได้อย่างไร ค้นคว้าหรืออ่านเรื่องที่คนอื่นเคยเขียนไว้หรือเปล่า หรือมัวแต่ขายพระเพลิน ไม่มีเวลาศึกษา

ความลับนี้เกี่ยวข้องกับประเพณีและความเชื่อแต่โบราณกาล คนสมัยก่อนสร้างพระพิมพ์บรรจุกรุเพื่อเป็นอนุสรณ์และสืบต่อพุทธศาสนาให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่า ณ แผ่นดินนี้พระพุทธศาสนาได้เคยรุ่งเรืองมาก่อน บุญใหญ่มหากุศลที่จะทำคือการสร้างพระให้ครบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฏกที่มีทั้งสิ้น ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

เสมียนตราด้วงสร้างเจดีย์ใหญ่ประจำตระกูลเนื่องในวาระเป็นเจ้าภาพบูรณะวัดบางขุนพรหมในครั้งใหญ่ ฉะนั้นเมื่อจะสร้างพระทั้งทีต้องสร้างให้ได้ครบ ๘๔,๐๐๐ องค์

หลังจากได้รับอนุญาตจากสมเด็จโต เสมียนตราด้วงมีเวลามากมายระหว่างการบูรณะวัดที่จะเตรียมแม่พิมพ์ ปูนเปลือกหอย ให้พอสำหรับการสร้างพระจำนวนมาก พระสมเด็จชุดนี้สร้างไปเรื่อย ๆ จากปีเป็นสองปีก็ย่อมได้ เพราะกว่าจะบูรณะวัดเสร็จก็เป็นปีพ.ศ. ๒๔๑๔ เข้าไปแล้ว

ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่เสมียนตราด้วงจะสร้างไม่ครบ ๘๔,๐๐๐ องค์

แล้วพระที่เกินจากนั้น มาจากไหน

คำตอบคือ มาจากผู้ศรัทธาต้องการร่วมบุญใหญ่กับเสมียนตราด้วง เพราะแทนที่จะอนุโมทนาในบุญที่คนอื่นสร้าง ถ้าตัวเองได้มีส่วนในบุญนั้นด้วย ก็จะได้อานิสงส์มากกว่า

พระสมเด็จบางขุนพรหมสร้างขึ้นต่อหน้าสมเด็จโตที่วัดอินทรวิหาร เพราะตอนนั้นท่านชราภาพแล้ว ท่านลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๑๓ เพื่อมาคุมการสร้างพระยืนองค์ใหญ่ที่วัดอินทรวิหารและจำวัดที่นั่น

หลังจากเสมียนตราด้วงได้บรรจุพระสมเด็จบางขุนพรหมเป็นชั้น ๆ ซ้อนกันจนครบ ๘๔,๐๐๐ องค์ในกรุเจดีย์ทั้งสี่ห้อง ผู้ใกล้ชิดสมเด็จโตที่เป็นสหธรรมิกและอันเตวาสิกก็ได้ร่วมบุญด้วยการนำพระมาบรรจุกรุด้วย

พระเหล่านั้นถูกวางอยู่เหนือพระสมเด็จบางขุนพรหมที่วางเป็นชั้น ๆ อย่างมีระเบียบ ประกอบด้วยพระจากวัดต่าง ๆ ดังนี้

1.      วัดระฆัง พระสมเด็จโต

มีทั้งพระสมเด็จยุคสองและยุคสามที่สมเด็จโตนำมาร่วมบุญใหญ่ด้วย ท่านจึงนำพระสมเด็จที่ท่านสร้างไว้ที่วัดระฆังทั้งพิมพ์วัดระฆัง พิมพ์เกศไชโย ทั้งพิมพ์ ๗ ชั้น ๖ ชั้นอกตัน ๖ ชั้นอกตลอด เนื่องจากท่านเป็นประธานในการสร้าง พระที่ท่านนำมาบรรจุจึงมีจำนวนมากที่สุด และอาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าท่านนำมาเสริมให้ครบจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์

2.      วัดระฆัง พระปิลันทน์

พระพุทธุปปบาทปิลันทน์เป็นอันเตวาสิกหรือลูกศิษย์ของสมเด็จโต ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังแทนสมเด็จโตและได้นำพระของท่านมาร่วมบรรจุด้วย

3.      วัดอินทรวิหาร พระหลวงปู่ภู

หลวงปู่ภูผู้เป็นสหธรรมิกหรือสหายทางธรรมของสมเด็จโต ได้นำพระที่สร้างที่วัดอินทร์มาร่วมบุญด้วย

4.      วัดอื่น ๆ

มีทั้งพระวัดพลับพิมพ์ตุ๊กตา พระสมเด็จอรหัง พระพิมพ์นางพญา และพระพิมพ์อื่น ๆ ที่ๆม่ทราบวัด

พระเหล่านี้วางอยู่ในช่องเจดีย์ที่ถูกผู้ลอบขุดกรุขนออกไปหมด จึงไม่เหลือให้เป็นหลักฐานตอนเปิดกรุ ยกเว้นพระสมเด็จเกศไชโยพิมพ์ ๖ ชั้นซึ่งมีหลงเหลืออยู่องค์สององค์ ส่วนพระอื่น ๆ ไม่มีให้เห็นแม้แต่องค์เดียว

จากคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ลอบขุดกรุ จำนวนพระที่นำมาร่วมบุญมีหลายร้อยองค์จนอาจมากถึงพันองค์ คราบกรุที่ปรากฏส่วนใหญ่จะเป็นแบบคราบกรุน้อย เพราะพระอยู่บนสุด ไม่ถูกคราบดินเหนียวและน้ำเคลือบมากเท่าพระสมเด็จบางขุนพรหมที่อยู่เบื้องล่าง

 

****************** (จบตอน ๑๒)******************

เล่าเรื่องเก่าโยงเรื่องใหม่ (ตอน ๑๑) - ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙


๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙

ผู้ชมโปรดอ่าน : เล่าเรื่องเก่าโยงเรื่องใหม่ (ตอน ๑๑)

 

ความลับที่จะเล่าให้ฟังอันดับแรกคือ พระสมเด็จยุคสองมีจริง

พระสมเด็จไม่ใช่พระประเภทเหรียญที่มีข้อความระบุถึงเกจิอาจารย์ วัด จุดประสงค์และวันเดือนปีที่สร้าง ยุคของพระสมเด็จต้องอ้างอิงตำราเก่า ๆ ที่เขียนแต่ครั้งโบราณ โยงไปหาประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในช่วงเวลาที่สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ยังมีชีวิตอยู่

พระสมเด็จยุคสองคือพระช่วงแรกที่สมเด็จโตคิดค้นศิลปะของพิมพ์พระสมเด็จเป็นคนแรกที่วัดระฆัง ก่อนพระสมเด็จอรหังที่สร้างขึ้นภายหลัง เป็นพิมพ์ที่หย่อนสวยจากการใช้ช่างชาวบ้านแถว ๆ วัด ซึ่งน่าจะเป็นบ้านช่างหล่อ จากนั้นค่อยมีช่างหลวงเช่นหลวงวิจิตรนิรมลหรือหลวงสิทธิการมาช่วยทำให้พิมพ์ทรงสวยงามขึ้น

ส่วนหลวงวิจารณ์เจียรนัยมาช่วยปรับปรุงพิมพ์เป็นคนสุดท้ายและได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงทั้งเนื้อหาและพิมพ์ทรงของพระสมเด็จ กล่าวคือ การแนะนำให้ใช้น้ำมันตังอิ้วเป็นสารเกาะยึดแทนน้ำอ้อยน้ำผึ้ง และการนำกรอบบังคับพิมพ์ที่เรียกว่า “กรอบกระจก” มาบังคับให้พระมีขนาดเล็กลงและมีสัดส่วนสวยงามเพิ่มขึ้น

ผู้เขียนแยกพิมพ์หลวงวิจารณ์เป็นพระสมเด็จยุคสามเพื่อบ่งถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่ต่างกับช่างอื่น และเพื่อสอดคล้องกับพระสมเด็จพิมพ์นิยมที่เช่าบูชากันแพง ๆ ในปัจจุบัน

ฉะนั้น พระสมเด็จยุคสองคือพระสมเด็จที่สมเด็จโตสร้างที่วัดระฆัง แต่เป็นฝีมือช่างอื่นที่ไม่ใช่หลวงวิจารณ์เจียรนัย

ยกตัวอย่างพระสมเด็จที่ลงในหน้า ๕ ของหนังสือพิมพ์หัวเขียวฉบับวันอาทิตย์เมื่อตอนต้นเดือนหรือแม้แต่ฉบับเมื่อวานนี้ ก็เป็นพระสมเด็จยุคสอง สังเกตได้จากพิมพ์ที่ไม่มีกรอบกระจก และเส้นซุ้มซ้ายที่ไม่แตะกลางกรอบ

หนังสือพระสมเด็จที่วางขายกันเกร่อมีหลายต่อหลายองค์ที่เป็นพระสมเด็จยุคสอง เพราะวงการพระเครื่องสายพุทธพาณิชย์เป็นแบบตัวใครตัวมัน ใครเส้นใหญ่อิทธิพลเยอะเสียงก็ดัง พระยุคสองก็แท้ ส่วนพระยุคสองของคนอื่นไม่แท้หมด

ทั้งนี้เพราะไม่มีใครศึกษาอย่างจริงจังว่าพิมพ์หลวงวิจารณ์เจียรนัยมีเอกลักษณ์ประจำตัวอย่างไร แตกต่างกับช่างหลวงอย่างหลวงวิจิตรนิรมลหรือหลวงสิทธิการตรงไหน สายพุทธพาณิชย์เน้นแต่รายละเอียดปลีกย่อยซึ่งเป็นเหมือนอัตลักษณ์ของพิมพ์มากกว่าที่จะมองหาร่องรอยของศิลปะเชิงช่างซึ่งเป็นเหมือนลายเซ็นต์ของศิลปินแต่ละคน

สายอนุรักษ์นิยมพยายามให้ความรู้แก่ผู้สนใจเกี่ยวกับพระสมเด็จยุคสองเช่นกัน เพียงแต่เรียกรวม ๆ เป็นพระสมเด็จวัดระฆังโดยไม่แบ่งยุคหรือฝีมือช่างผู้แกะแม่พิมพ์ ดังนั้นในหนังสือที่บางกลุ่มพิมพ์ออกมาหลายเล่มจึงมีพระสมเด็จปนกันไปหมด ทั้งยุคสอง ยุคสาม จนถึงยุคสี่ที่ไม่ทันสมเด็จโต

พระสมเด็จบางขุนพรหมที่หายไปก่อนเปิดกรุเหล่านี้ จะไขปริศนาเกี่ยวกับพระสมเด็จยุคสองเนื่องจาก

1.      เป็นพระที่พบในกรุเจดีย์ใหญ่วัดบางขุนพรหมในพร้อม ๆ กับพระสมเด็จที่เสมียนตราด้วงสร้างเพื่อบรรจุกรุ แต่ถูกนำออกมาจากกรุก่อน จึงไม่ปรากฏเป็นหลักฐานให้เห็น

2.      อายุของพระอยู่ในยุคเดียวกันกับพระสมเด็จบางขุนพรหม ตัดปัญหาเรื่องสร้างทีหลังไม่ทันสมเด็จโตได้

3.      คราบกรุที่เป็นแบบเดียวกับพระสมเด็จบางขุนพรหมบ่งชี้ให้เห็นว่ามาจากกรุเดียวกัน

4.      พระที่พบมีจำนวนมากพอที่จะจำแนกฝีมือช่างแกะพิมพ์ที่หลากหลายทั้งช่างราษฎร์ช่างหลวง เนื้อพระมีความแตกต่างระหว่างเนื้อยุคสามที่มีสีขาวคราบเหลืองหรือขาวอมเหลืองจากน้ำมันตังอิ้ว และเนื้อยุคสองสีขาวนวล ขาวออกเขียว หรือขาวออกน้ำตางอ่อนของน้ำอ้อยน้ำผึ้ง

ข้อมูลที่ได้จะนำไปสู่การศึกษาถึงการแบ่งพระยุคสองให้ละเอียดมากขึ้น จากสมเด็จโตเริ่มสร้างพระสมเด็จในสมัยถูกรัชกาลที่ ๔ ตามตัวให้มาอยู่กรุงเทพประมาณปีพ.ศ. ๒๓๙๔ จนถึงยุคสามของหลวงวิจารณ์เจียรนัยในปีพ.ศ. ๒๔๐๙ ก็เป็นเวลา ๑๕ ปีที่มีการพัฒนาพิมพ์ทรงโดยตลอด

พระสมเด็จยุคสองแบ่งคร่าว ๆ ได้อย่างน้อยสองช่วง

ช่วงแรก เป็นพิมพ์ชาวบ้านที่ใช้น้ำอ้อยน้ำผึ้งเป็นสารเกาะยึด เนื้อพระจะเก่าที่สุดเป็นแบบสีขาวอมน้ำตาลนิด ๆ พิมพ์ส่วนใหญ่ไม่สวย ไม่สมส่วนตามลีกษณะพระพุทธรูป

ช่วงหลัง มีการปรับปรุงพิมพ์ให้สวยงามขึ้น ฝีมือช่างเริ่มพัฒนาจนเป็นต้นแบบพิมพ์วัดระฆังที่มีการสร้างเลียนพิมพ์ต่อ ๆ กันมา เช่นพิมพ์วัดระฆัง ๑๐๐ ปี พิมพ์ล่ำหน้าใหญ่ที่ใส่กรอบอยู่หน้ากุฏิเจ้าคุณเที่ยงเจ้าอาวาสวัดระฆัง  และพิมพ์ที่มีส้นแซมใต้ตัก

การแบ่งพระยุคสองข้างต้นเป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้นจากการได้เห็นพิมพ์อันหลากหลายของพระชุดนี้ การศึกษาให้ลึกไปกว่านี้ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องจัดหมวดหมู่พระทั้งหมดตามพิมพ์ทรงและเนื้อให้ครบถ้วนเสียก่อนจึงจะพิจารณาโดยละเอียดได้

ถือเป็นข้อมูลอันมีค่าที่รอให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาร่วมกับผู้เขียนต่อไป

****************** (จบตอน ๑๑)******************