Monday, July 25, 2016

เล่าเรื่องเก่า โยงเรื่องใหม่ (ตอนที่ ๗) - ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๙


๑๘ มีนาคม ๒๕๕๙

ผู้ชมโปรดอ่าน : เล่าเรื่องเก่า โยงเรื่องใหม่ (ตอนที่ ๗)

 

เรื่องเก่าล่าสุดก่อนจะโยงถึงเรื่องใหม่ คือการสอนให้ดูพระสมเด็จ

หลังจากความพยายามของเซียนพระกลุ่มหนึ่งบรรลุผล สามารถตั้งสมาคมพระเครื่องได้เป็นผลสำเร็จ วงการพระเครื่องก็พุ่งทะยานเหมือนรถแข่งออกจุดสตาร์ท มีการนำเทคนิคการบริหารจัดการเข้าไปจัดองค์กรของสมาคม เปลี่ยนการรวมตัวกระจัดกระจายของคนในวงการพระเครื่องที่รบแบบกองโจรให้เป็นกองทัพ ตั้งแม่ทัพในสายพระเครื่องประเภทต่าง ๆ สถาปนาอาณาจักรพระเครื่องอันเกรียงไกร ณ ศูนย์การค้าชานเมืองแห่งหนึ่ง

ไม่ผิดอะไรกับความรุ่งเรืองของอาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่ จักรพรรดิอันเกรียงไกร และกองทัพที่รบชนะไปทุกทิศทุกทาง

จากนั้นก็สร้างความเป็นปึกแผ่นโดยการนำเทคนิคการตลาดมาใช้กับธุรกิจพระเครื่อง นั่นคือการสร้างแบรนด์ให้กับตัวเอง เพราะสูตรการตลาดบอกว่าถ้าสร้างแบรนด์ได้สำเร็จ สิ่งที่ตามมาคือความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Royalty) ลูกค้าจะไม่ไปไหน ซื้อสินค้าจากแบรนด์เดียวโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทใด

เราจึงได้เห็นเซียนพระโปรโมทตัวเองจากสายพระเครื่องที่ชำนาญพระประเภทเดียวเป็นพิเศษ มาเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระทุกประเภท เซียนพระกรุเขียนหนังสือพระสมเด็จ เซียนเหรียญขายพระเบญจภาคี เซียนสายสุพรรณขายพระทางเหนือ เซียนกรุงเทพขายพระสายระยอง เซียนภาคกลางขายพระภาคใต้ และเซียนใต้ขายพระอีสาน

ดูง่าย ๆ จากฉายาที่เซียนพระแต่ละคนตั้งให้กับตัวเอง กับพระที่เขาลงขายในอินเทอร์เน็ตหรือนิตยสารพระเครื่อง จะเห็นว่าไปกันคนละทิศละทาง

เมื่อสายพุทธพาณิชย์ครองวงการพระเครื่อง สิ่งที่เกิดคือราคาพระที่ถีบตัวทะยานขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มีมากมาย รวมทั้งเซียนพระแถวหน้าเห็นโอกาสกอบโกยเงินทองครั้งใหญ่

รายละเอียดและวิธีการที่เซียนพระเหล่านั้นใช้ ผู้เขียนเล่าให้ฟังแล้วในเว็บพระสมเด็จดอทเน็ต ท่านผู้อ่านที่สนใจไปหาอ่านได้ จากนั้นราคาพระทุกประเภทแพงขึ้นเป็นสิบเท่าในสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะพระสมเด็จถูกโฆษณาชวนเชื่อจนองค์ท็อป ๆ ทะลุ ๕๐ ล้านบาท ทะยานเข้าหาแนวต้านที่ ๑๐๐ ล้านบาทอยู่มะรอมมะร่อ

สิ่งที่ขาดหายไปอย่างน่าเสียดาย คือบรรยากาศการเล่นพระแบบเก่าที่เป็นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ทุกวันนี้มีขบวนการปั่นหัวให้คนเล่นพระแบบหน้ามืดตามัว ลืมนึกถึงความพอดีกับความพอเพียง กลายเป็นความละโมบและความหลงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

พระสมเด็จถูกสายพุทธพาณิชย์ขีดเส้นแบ่งให้มีแต่สองประเภท พระราคาแพงเป็นล้านบาทขึ้นไปอยู่กับพวกเขา กับพระไม่แท้หรือไม่มีราคาอยู่ที่พวกเรา

เซียนพระที่หันมาขายพระสมเด็จ จะแสวงหาพระที่ตัวเองคิดว่าแท้มาขายแพง ๆ พระอื่นที่ไม่ใช่พระแพงแต่เป็นพระแท้ถูกลืมหมด ไม่สนใจที่จะค้นคว้าหาความรู้ว่า นอกจากพระสมเด็จราคาแพงที่ผู้เขียนเรียกว่ายุคสามแล้ว ยังมีพระที่สมเด็จโตสร้างไว้ก่อนหน้านั้น ทั้งยุคแรกและยุคสอง และหลังพระยุคสามของหลวงวิจารณ์ ยังมีพระยุคสี่ที่สร้างในยุคหลักสมเด็จโตทั้งที่วัดระฆังและวัดอื่นมากมาย

พอพระสมเด็จของเซียนพระที่มีแบรนด์ของตัวเองแพงขึ้น และพระสมเด็จตามแผงพระกลายเป็นพระไม่แท้หรือไม่มีราคา คนที่เริ่มเล่นพระก็เบื่อหน่าย ไม่อยากดูพระสมเด็จ หันไปเล่นพระประเภทเหรียญหรือพระใหม่ เพราะเหรียญดูง่ายกว่าและพระใหม่มีแต่พระแท้ สายพุทธพาณิชย์ก็ปรับตัวตาม เริ่มจบการโปรโมทพระใหม่อย่างใหม่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ท่านผู้อ่านสังเกตไหมว่าเดี๋ยวนี้ ความคิดสร้างพระไม่ได้เริ่มต้นที่วัด ไม่ว่าจะเป็นหลวงพ่อหรือลูกศิษย์ หากแต่เป็นคนนอกที่เป็นนักลงทุน ลองค้นจากกูเกิ้ลในหัวเรื่องธุรกิจพระเครื่องดูสิครับ จะเห็นคนโพสต์วิธีทำมาหากินกับการสร้างพระ วิเคราะห์การลงทุนและค่าใช้จ่ายในการค้าเป็นการอย่างละเอียด ที่น่าตกใจคือต้นทุนสร้างพระแต่ละรุ่นไม่เท่าไหร่ แต่ไปแพงที่ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ซึ่งมีถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของราคาขายทีเดียว

ผู้เขียนเองได้แต่เตือนไว้ในบทความของเว็บนี้ เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกัน เพียงแต่ผู้เขียนไม่ได้อยู่ในวงการพระเครื่อง เป็นคนนอกที่เรียกตัวเองเป็น นักพระสมเด็จวิทยา สนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับพระสมเด็จเท่านั้น

จนกระทั่งวันหนึ่งไปเจอคนขายพระที่ตลาดพญาไม้ แผงนี้มีพระพิมพ์สมเด็จให้เลือกชมเป็นพันองค์ การได้คุยและแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องพระสมเด็จกับคนขายทำให้ผู้เขียนได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ผู้สนใจสะสมพระสมเด็จต้องรู้หลักการเบื้องต้นในการศึกษาพระสมเด็จ

นั่นคือเริ่มต้นจากพระตระกูลสมเด็จที่เห็นทุกวันตามแผงพระทั่วไปโดยเปิดใจให้กว้างที่สุด และเรียนรู้จากพระแต่ละองค์ด้วยแนวคิดที่เป็นระบบ

ถ้าเปรียบเทียบพระเนื้อผงตระกูลพระสมเด็จที่มีการสร้างทั้งหมดจากสมเด็จโตจนถึงปัจจุบัน มีมากมายเหมือนพีระมิดกีซา พระสมเด็จวัดระฆังคือยอดพีระมิด ในขณะที่พระอื่น ๆ ที่สร้างภายหลังคือฐานพีระมิดนั่นเอง

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมเราต้องศึกษาจากยอดพีระมิดลงมา ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าพระสมเด็จวัดระฆังนอกจากแพงที่สุด หายากที่สุดแล้ว ยังมีการทำปลอมเลียนแบบมากที่สุด มุมมองจากล่างขึ้นบนจะเห็นพระมากกว่า รู้จักพระตระกูลสมเด็จที่สร้างกันหลากหลายจากเกจิอาจารย์ตามวัดต่าง ๆ เมื่อฝึกดูจนชำนาญและคุ้นกับพระระดับล่าง ก็ไม่ยากที่จะเรียนรู้ในพระระดับบนขึ้นไป จนถึงยอดพีระมิด

ความคิดนี้ทำให้ผู้เขียนคิดหลักสูตรการเรียนรู้พระสมเด็จแบบเป็นขั้นเป็นตอน โดยแบ่งเป็น ๔ ระดับ จากระดับเริ่มต้นหัดเล่นพระจนถึงระดับมืออาชีพ เปรียบให้ฟังง่าย ๆ ก็เหมือนกีฬากอล์ฟ เริ่มต้นจากหัดสวิงแต้มต่อสูง เมื่อเล่นเป็น แต้มต่อจะลดเป็นระดับกลาง จนเป็นมือฉมังแต้มต่อตัวเดียว และเป็นนักกอล์ฟอาชีพในที่สุด

การเรียนเป็นขั้นตอนมีเป้าหมายหรือรางวัลทุกขั้นตอน จากระดับเริ่มต้นเป็นพระแท้ราคาไม่แพง และรางวัลสำหรับระดับมืออาชีพคือพระสมเด็จวัดระฆังที่ทุกคนใฝ่หา

ผู้เขียนตั้งชื่อหลักสูตรว่า AmuletEZ เป็นการปักป้ายให้รู้ว่ามีหลักสูตรสอนดูพระเกิดขึ้นแล้ว สอนฟรีให้กับท่านผู้อ่านที่สนใจ และสอนตามลำดับขั้นตอน จากง่ายไปหายาก ไม่ใช่เรียนเสียเงินคอร์สเดียวเพียงวันสองวันก็กลายเป็นผู้รู้ดูพระสมเด็จได้

ระดับแรกที่สอนคือการปูพื้นฐานในการดูพระสมเด็จเบื้องต้น แบ่งเป็น ๒ ภาคคือ ภาคทฤษฎีเกี่ยวกับหลักการและที่มาของพื้นฐานทั้ง ๗ และภาคปฏิบัติที่เป็นการนำองค์จริง ๑๐ องค์มาเป็นตัวอย่าง และให้ท่านผู้อ่านพิจารณาตามด้วยตัวเองควบคู่กันไป

พื้นฐานทั้ง ๗ สามารถนำมาใช้พิจารณาพระพิมพ์สมเด็จที่เห็นตามแผงพระ และเป็นกติกาในการดูพระสมเด็จอย่างเป็นธรรม

ไม่ใช่เห็นปุ๊บ บอกเก๊ปั๊บ

เป็นการพิจารณาทีละข้อตามหลักการทั้ง ๗ แต่เมื่อหลักการใดไม่ผ่าน ยังให้โอกาสอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งไม่ผ่านสองครั้งจึงถือว่าพระองค์นั้นไม่ผ่านการพิจารณาของผู้วิเคราะห์

ผู้เขียนอธิบายภาคทฤษฎีครบถ้วน และกำลังเริ่มในภาคปฏิบัติ ก็บังเอิญเกิดเหตุการณ์ล่าสุดที่ทำให้ต้องหยุดสอนกลางคัน

******************************** จบตอน ๗ *********************************

No comments:

Post a Comment