Saturday, September 30, 2017

เรื่องเล่าวันนี้
๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ : หนังสือ เล่ม ๒ (ตอน ๒)

เมื่อผู้เขียนตัดสินใจว่าหนังสือ พระสมเด็จบางขุนพรหม (ที่หายไป) เล่ม ๒ จะมีบทความเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ และจะนำรูปพระสมเด็จจิตรลดามาลงให้ชมอย่างครบถ้วนเพื่อเป็นหลักฐานและข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับพระของท่าน
ก็ต้องมีบทความประกอบ

ตามตำนานการสร้างพระโดยพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ที่ผ่านมา พูดถึง
พระรอด พระนางจามเทวีเป็นผู้สร้าง
พระนางพญา พระวิสุทธ์กษัตรีย์เป็นผู้สร้าง
พระขุนแผนเคลือบ พระนเรศวรเป็นผู้สร้าง

มีแต่พระพิมพ์ใต้ฐานพระพุทธนวราชบพิตรเท่านั้นที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงสร้างด้วยพระองค์เอง
เป็นตัวแทนของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดด้วยเหตุ ๓ ประการ กล่าวคือ

ประการแรก พระพุทธนวราชบพิตร
เป็นตัวแทนชาติด้วยการเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด ศาสนาด้วยการเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า และพระมหากษัตริย์ด้วยชื่อที่แปลว่า พระราชาองค์ที่ ๙

ประการที่สอง มวลสารพระพิมพ์ใต้ฐาน
เป็นตัวแทนชาติด้วยดินและน้ำจากทั่วประเทศ ศาสนาด้วยดินจากสังเวชนียสถานและวัตถุบูชาจากวัดและพระพุทธรูปองค์สำคัญ พระมหากษัตริย์ด้วยวัตถุส่วนพระองค์เช่น เส้นพระเจ้า สีขูดจากผ้าใบเขียนภาพ ชันและสีทาเรือไมโครมดที่ทรงใช้แข่งกีฬา

ประการที่สาม พระพิมพ์เมื่อสร้างแล้วเสร็จ
เป็นตัวแทนชาติจากการบรรจุไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปประจำจังหวัด ศาสนาจากการเป็นพระปฏิมาย่อส่วน  พระมหากษัตริย์จากการสร้างด้วยฝีพระหัตถ์

นอกจากเรื่องราวของเกี่ยวกับพระสมเด็จจิตรลดาแล้ว ผู้เขียนยังเขียนถึงหนังสือชื่อ “A man called Interpid” ที่พระองค์ท่านทรงแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง อันแสดงถึงพระปรีชาสามารถด้านอักษรศาสตร์ และความแยบยลในการตั้งชื่อภาษาไทยเป็น “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ”

พระสมเด็จจิตรลดายังมีนัยยะสำคัญที่แผ่นทองคำเปลวที่ติดด้านหลังพระโดยผู้ได้รับพระราชทานต้องนำไปปิดเอง เพื่อเตือนให้ระลึกถึงการทำคุณความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน เหมือนเป็นการ “ปิดทองหลังพระ”
เหมือนนายอินทร์ผู้อยู่เบื้องหลังการเกลี้ยกล่อมประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาให้มาช่วยอังกฤษรบกับฮิตเลอร์
ทำให้ผู้เขียนนึกถึงหนังฮอลลี่วู้ดที่เคยดูตอนยังเรียนชั้นมัธยมชื่อ “The man who shot Liberty Valence”  ที่มีจอห์นเวย์นเป็นตัวเอก สร้างวีรกรรมโดยไม่มีใครรู้แบบปิดทองหลังพระอีกเช่นกัน

ดังนั้น หนังสือ พระสมเด็จบางขุนพรหม (ที่หายไป) เล่ม ๒ มิใช่มีแต่รูปพระสมเด็จจิตรลดาและพระสมเด็จบางขุนพรหมพิมพ์เจดีย์แต่อย่างเดียว ยังมีเรื่องราวดี ๆ และบทความทางวิชาการให้อ่านด้วยความเพลิดเพลินและเป็นการเรียนรู้เรื่องพระสมเด็จไปในตัว

(จบตอน ๒)

**************************************************************
สั่งซื้อโดยตรงกับผู้เขียน

หนังสือ พระสมเด็จบางขุนพรหม (ที่หายไป) เล่ม ๑ / เล่ม ๒  
1. โอนเงิน 300 บาท/เล่ม ตาม บ/ช ข้างล่าง
2. แจ้ง ชื่อผู้รับ + ที่อยู่

โอนเงินได้สะดวก ตามธนาคารดังต่อไปนี้
**************************************************************

ทุกธนาคารเป็นบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบริษัท สี่ปาริณา จำกัด
1. ธนาคารกรุงเทพ สาขาเดอะมอลล์ 3 รามคำแหง
เลขบัญชี 009-0-58009-3
2. ธนาคารกสิกรไทย สาขา ถนนรามคำแหง
เลขบัญชี 024-8-39149-9
3. ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเดอะมอลล์ 3 รามคำแหง
เลขบัญชี 173-251529-6
4. ธนาคารกรุงไทย สาขาหัวหมาก ทาวน์ เซ็นเตอร์
เลขบัญชี 800-0-38234-2
5. ธนาคารธนชาต สาขาเดอะมอลล์ 2 รามคำแหง
เลขบัญชี 026-2-01826-3

**************************************************************


Tuesday, September 26, 2017

เรื่องใหม่วันนี้
๒๗ กันยายน ๒๕๖๐ : หนังสือ เล่ม ๒ (ตอน ๑)

หนังสือ พระสมเด็จบางขุนพรหม (ที่หายไป) เล่ม ๑ วางตลาดเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ กะว่าจะเปิดตัวในงานหนังสือแห่งชาติที่จัดงานในเดือนนั้น พอดีเกิดเหตุการณ์เสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศพอดี
นอกจากความเสียใจอย่างสุดซึ้งร่วมกับคนไทยทั้งชาติ เพราะไม่คิดว่าในหลวงจะจากพวกเราไปเร็วขนาดนั้น ความอาลัยทำให้คิดว่าจะต้องเขียนถึงท่านในหนังสือ เล่ม ๒ ในบทความเกี่ยวกับพระองค์ท่าน และเกี่ยวกับพระเครื่องด้วย

ตอนแรกยังคิดไม่ลงตัวว่าจะเขียนเรื่องรัชกาลที่ ๙ กับพระเครื่องได้อย่างไร ก็มีเหตุบังเอิญเกิดขึ้น
มีผู้ใหญ่อยู่ท่านหนึ่งที่ผู้เขียนรู้ว่าท่านครอบครองพระเครื่องไว้มากพอสมควร เลยให้คนรู้จักถามว่าท่านมีพระในหลวงชุด ทรงผนวช หรือไม่
คำตอบที่ได้มาคือ ยิ่งกว่าชุด ทรงผนวช ก็มี ไม่สนใจบ้างหรือ

นั่นแหละเป็นที่มาของรูปพระชุดสมเด็จจิตรลดาในหนังสือ แรก ๆ มีมาให้ชมไม่กี่องค์ ส่วนใหญ่เป็นพิมพ์นิยม สีนิยมออกน้ำตาลแก่หรือสีชอกโกแล็ต
ต่อมาผู้เขียนเห็นในหนังสือพระเล่มหนึ่ง อย่าให้ออกชื่อก็แล้วกัน ลงรูปพระสมเด็จจิตรลดาที่เป็นสีด้วย เลยฝากถามผู้ใหญ่ท่านนั้นว่ามีแบบที่เป็นสีอื่นหรือไม่
คำตอบที่ได้มาคือ มี จะเอาสีไหนล่ะ
ตอนนั้นถามไปด้วยความอยากลองของว่า มีสีหลาย ๆ สีทำนองสีประจำวันหรือเปล่า
คำตอบกลับมาคือ มีสีครบทุกวัน ไม่ใช่พิมพ์ใหญ่อย่างเดียว ยังมีพิมพ์เล็กด้วย

ผู้เขียนต้องอ้อนวอนแทบแย่กว่าผู้ใหญ่ท่านนั้นจะให้ยืมพระมาถ่ายรูป พร้อมทั้งตั้งเงื่อนไขไว้หลายประการ
ประการแรก ผู้เขียนจะระบุชื่อหรือที่มาของพระไม่ได้
ประการที่สอง อย่าถามเบื้องหลังหรือที่มาของพระ
ประการสุดท้าย ห้ามเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับพระ ไม่ว่ามีกี่ขนาด กี่เนื้อ กี่สี รวมทั้งห้ามเรียกชื่อ พระสมเด็จจิตรลดา
ผู้เขียนจึงต้องเรียกชื่อทางการว่า พระพิมพ์ใต้ฐานพระพุทธนวราชบพิตร

ตอนแรก ผู้เขียนตั้งใจจะลงรูปพระไม่กี่องค์ แต่ตอนหลังอดคิดขึ้นมาไม่ได้ว่าตอนศึกษาเรื่องพระสมเด็จ ข้อมูลที่ถ่ายทอดกันมาถูกบิดเบือนหรือไม่กระจ่างชัด จนยากจะรู้ว่าพระสมเด็จโตมีนอกเหนือจากที่เซียนพระสายพุทธพาณิชย์เล่นหากันหรือเปล่า
แค่พิมพ์ใหญ่ที่ว่ามี ๔ พิมพ์ ก็ไม่ตรงกับตรียัมปวายที่แบ่งตามขนาดพระอย่างเดียวเป็นเขื่อง โปร่ง ชะลูด ป้อม สันทัด และย่อม รวมทั้งหมด ๖ ขนาด
ถ้าแต่ละขนาดมีแค่ ๓ ถึง ๔ พิมพ์ ก็จะมีร่วม ๒๐ พิมพ์เข้าไปแล้ว

พระสมเด็จจิตรลดาเป็นของสูง จัดว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์พระเครื่องในเมืองไทย
เพราะเป็นพระพิมพ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างด้วยพระองค์เอง
ข้อมูลที่ถูกต้องจึงสำคัญที่สุดสำหรับคนรุ่นหลังหรือผู้สนใจศึกษาจะได้รู้และไม่หลงทางไปกับภาพพระที่เห็นในหนังสือหรือซื้อจากเซียนพระที่หลงทาวจากข้อมูลที่ไม่แม่นยำและลึกซึ้งพอ จมอยู่กับพิมพ์และสีองค์พระเพียงไม่กี่องค์
เพราะไม่ใช่มีเฉพาะพิมพ์ใหญ่สีน้ำตาลแก่อย่างเดียว ตามที่เล่นหากัน
ยังมีหลากสี หลายพิมพ์ ที่ไม่เคยปรากฏในที่ใดมาก่อน

วันนี้ไม่ลงรูปพระให้ดู ท่านที่สนใจต้องไปหาอ่านดูตามร้านหนังสือซีเอ็ดหรือนายอินทร์ที่วางขายอยู่ตามศูนย์การค้า
หรือจะสั่งซื้อโดยตรงกับผู้เขียนก็ได้ ตามรายละเอียดข้างล่าง

(จบตอน ๑)

**************************************************************
สั่งซื้อโดยตรงกับผู้เขียน
หนังสือ พระสมเด็จบางขุนพรหม (ที่หายไป) เล่ม ๑ / เล่ม ๒  
1. โอนเงิน 300 บาท/เล่ม ตาม บ/ช ข้างล่าง
2. แจ้ง ชื่อผู้รับ + ที่อยู่

โอนเงินได้สะดวก ตามธนาคารดังต่อไปนี้
**************************************************************

ทุกธนาคารเป็นบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบริษัท สี่ปาริณา จำกัด
1. ธนาคารกรุงเทพ สาขาเดอะมอลล์ 3 รามคำแหง
เลขบัญชี 009-0-58009-3
2. ธนาคารกสิกรไทย สาขา ถนนรามคำแหง
เลขบัญชี 024-8-39149-9
3. ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเดอะมอลล์ 3 รามคำแหง
เลขบัญชี 173-251529-6
4. ธนาคารกรุงไทย สาขาหัวหมาก ทาวน์ เซ็นเตอร์
เลขบัญชี 800-0-38234-2
5. ธนาคารธนชาต สาขาเดอะมอลล์ 2 รามคำแหง
เลขบัญชี 026-2-01826-3


**************************************************************

Sunday, September 24, 2017

เรื่องใหม่วันนี้
๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ : หนังสือเล่ม ๑ (ตอน ๓)

ความบันดาลใจ

ผู้เขียนรู้สึกตลอดเวลาที่ส่องดูพระสมเด็จของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ว่าพิมพ์ทรงของท่านเป็นงานศิลปะที่ควรได้รับการศึกษาถึงความสวยงามและพุทธลักษณะไม่ต่างจากการศึกษาศิลปะของพระพุทธรูปหรือพระบูชา
ดูพระสมเด็จต้องดูที่ศิลปะก่อน ไม่ใช่ดูอย่างที่สอนกันในหนังสือพระสมเด็จทุกเล่มที่ดูเหมือนจะจับผิดหรือหาสิ่งผิดปกติในพิมพ์
แบบที่เรียกกันว่า “ตำหนิ” ของพระแต่ละพิมพ์ ซึ่งเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง เป็นการจาบจ้วงถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไร้ซึ่งราคิน และไม่ยกย่องให้เกียรติช่างผู้แกะพิมพ์

เพราะ “ตำหนิ” มีอีกความหมายว่า “ติ” หรือ “ติเตียน”

ศิลปะของพระสมเด็จเริ่มจากพุทธศิลป์ ก่อนจะไปที่เอกลักษณ์ของพิมพ์ทรงที่แยกไปตามลักษณะขององค์พระ ฐาน และเส้นซุ้ม เป็นพิมพ์ชื่อต่างกัน เช่น พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เจดีย์ พิมพ์เส้นด้าย จนถึงลักษณะเฉพาะตัวของพิมพ์นั้นอันสื่อถึงศิลปะเชิงช่างของผู้แกะพิมพ์ และเป็นอัตลักษณ์เกี่ยวกับร่องรอย รายละเอียด อันเป็นเอกลักษณ์ของช่างแต่ละคน เหมือนเป็นลายเซ็นของช่างคนนั้น

แต่การศึกษาแค่ศิลปะอย่างเดียวยังไม่พอ
ต้องศึกษาให้ลึกลงไปถึงจิตวิญญาณหรือเบื้องหลังของศิลปะชิ้นนั้น ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ลงไปเรื่อย ๆ เป็นชั้น ๆ จนถึงเบื้องลึกที่สุดที่จุดนั้นไม่ใช่ความลับอีกต่อไป
หากเป็นความเข้าใจ ความรู้แจ้ง ความรู้จริง

แรงบันดาลใจของผู้เขียนเป็นไปตามอมตวจีของคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมันชื่อ ลุดวิก วาน บีโธเฟน ที่ผู้เขียนนำมาลงไว้ในหนังสือ เล่ม ๑ ดังนี้

Don’t only practice your art,
but force your way into its secrets;
for it and knowledge can
raise man to the Divine.
Ludwig van Beethoven
อย่าเพียงแค่ทำงานศิลปะ
จงมานะไขความลับในงานศิลป์
เพื่อความลับความรู้ลือระบิล
ยกตนสู่ถิ่นฟ้าสุราลัย
ลุดวิก วาน บีโธเฟน

ผู้แต่งซิมโฟนีหรือดนตรีคลาสสิกที่มีหลายท่อน ท่านแต่งซิมโฟนีไว้ทั้งหมด ๙ ชุดด้วยกัน โดยซิมโฟนีชุดที่มีชื่อเสียงที่สุด คือชุดตรงกลาง และชุดสุดท้าย
นั่นคือ ซิมโฟนีหมายเลข ๕ และซิมโฟนีหมายเลข ๙
ลองฟังดูนะครับ หมายเลข ๕ เป็นความเร้าใจ ดุเดือด เลือดพล่าน ส่วนหมายเลข ๙ เป็นความสดชื่น สดใส สนุกสนาน ตามลิงค์ข้างล่างนะครับ
วาทยกร หรือ Conductor เป็นชาวเวเนซูเอลา ชื่อ Gustavo Dudamel เขาดังที่สุดในเวลานี้ แต่ละซิมโฟนีอาจยาวหน่อย แต่ถ้าดูให้จบจะได้อรรถรส

1. Symphony # 5
Ludwig van Beethoven - Symphony No. 5 | Gustavo Dudamel [HD]
https://www.youtube.com/watch?v=OGnBrabqdP4&list=RDWCBrYzvCt_8&index=2  

2. Symphony # 9
ท่อนที่ ๔ หรือ 4th movement เพราะมาก มีการร้องประสานเสียงซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการนำนักร้องประสานเสียงมาร้องในเพลงซิมโฟนี
Elbphilharmonie LIVE | Gustavo Dudamel, Beethoven 9th Symphony
https://www.youtube.com/watch?v=WCBrYzvCt_8

(จบตอน ๓)

.................................................................


Thursday, September 21, 2017

เรื่องใหม่วันนี้
๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ : หนังสือเล่ม ๑ (ตอน ๒)

ปกในหน้าแรก
ทันทีที่ท่านเปิดหนังสือ พระสมเด็จบางขุนพรหม (ที่หายไป) เล่ม ๑ จะพบข้อความว่า

ปี ๒๔๑๔
สร้าง ๘๔,๐๐๐ องค์
ปี ๒๕๐๐
พบ ๒,๙๕๐ องค์
มีเพียงเท่านี้จริงหรือ

ผู้เขียนลงข้อความ ๕ บรรทัดนี้ เพื่อสื่อถึงคำถามที่ค้างคาใจมานาน และอาจเป็นคำถามในใจท่านผู้อ่านอีกหลายท่าน ว่าสร้างพระมากขนาดนี้ จริงหรือ ถ้าจริง แล้วพระไปอยู่ที่ไหนกันหมด
ผู้เขียนจะขยายความให้ฟังทีละบรรทัด

ปี ๒๔๑๔
สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆัง เพื่อสร้างอนุสรณ์ชิ้นสุดท้าย คือพระยืนองค์ใหญ่ที่วัดอินทรวิหาร ให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่าท่านยืนได้ที่นั่น ตอนนั้นท่านชราภาพมากแล้วและละสังขารในปีถัดมาขณะสร้างพระยืนได้เพียงครึ่งองค์

๘๔,๐๐๐ องค์
คนมักสงสัยว่าสร้าง ๘๔,๐๐๐ องค์ จริงหรือ
แม้แต่เซียนใหญ่ท่าพระจันทร์ยังเขียนไว้ในหนังสือพระสมเด็จบางขุนพรหมที่แจกเป็นรางวัลในงานประกวดพระแห่งหนึ่ง ตั้งข้อสงสัยว่า น่าจะสร้างไม่ถึง
คนที่เขียนเป็นคนขายพระ ไม่ใช่คนศึกษาประวัติการสร้างพระแต่โบราณ พวกเขาไม่รู้หรอกว่าคนสมัยก่อนมีศรัทธาและความแน่วแน่ การสร้างพระ ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่ากับพระธรรมขันธ์ในพระไตรปิฎก เป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ยากนักที่จะมีโอกาสได้ทำแม้แต่เพียงครั้งเดียวในชีวิต

เสมียนตราด้วงเป็นเศรษฐีละแวกนั้น นามสกุล ธนโกเศศ บ่งถึงความมั่งคั่ง ร่ำรวย ท่านรับเป็นเจ้าภาพในการปฎิสังขรณ์วัดบางขุนพรหมใน และสร้างเจดีย์ใหญ่ประจำตระกูลเพื่อบรรจุพระสมเด็จ ๘๔,๐๐๐ องค์ เป็นอุเทสิกเจดีย์ หรือเจดีย์ซ้อนเจดีย์
ท่านขออนุญาตสมเด็จโตเป็นประธานในการสร้างพระชุดนี้ พระมีจำนวนมาก จึงต้องสร้างไปพร้อม ๆ กับการปฎิสังขรณ์วัดซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีอยู่แล้ว

ศรัทธาเหลือล้น เงินก็มี บารมีก็มาก เวลาเหลือเฟือ ทำไมจะทำไม่ได้

เลิกสงสัยกันเสียที เสมียนตราด้วงสร้างและบรรจุพระสมเด็จ ๘๔,๐๐๐ องค์ ไว้ในเจดีย์ใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๔ จริงอย่างแน่นอน

ปี ๒๕๐๐
เป็นปีที่ทางการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เป็นความเชื่อมาก่อนหน้านี้ว่าหมายถึงกึ่งพุทธกาล เพราะมีบันทึกในพระไตรปิฎกว่าพุทธศาสนาในยุคพระศรีศากยมุนีพระพุทธเจ้า จะมีอายุเพียง ๕,๐๐๐ ปี
ปลายปีนั้น เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน มีการเปิดกรุเป็นทางการโดยพลเอกประภาส จารุเสถียร เป็นประธาน

๒,๙๕๐ องค์
เป็นจำนวนพระสมเด็จที่ทางวัดออกให้เช่าบูชาและมีการลงบัญชีอย่างเป็นทางการ

มีเพียงเท่านี้จริงหรือ
เป็นคำถามที่คาใจผู้เขียนมานานแล้ว ว่าทำไมสร้างเกือบแสนองค์ แต่เปิดกรุมีพระในสภาพสมบูรณ์ไม่ถึง ๕ เปอร์เซ็นต์

เป็นคำถามที่ชวนให้ติดตาม และชวนให้ซื้อหนังสือ พระสมเด็จบางขุนพรหม (ที่หายไป) เล่ม ๑ นี้ เป็นความลับที่ผู้เขียนจะเปิดเผยให้ทราบเมื่อท่านอ่านต่อไป

(จบตอน ๒)


............................................................

Friday, September 15, 2017

เรื่องใหม่วันนี้
๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ : หนังสือเล่ม ๑ (ตอน ๑)

ปกหนังสือ พระสมเด็จบางขุนพรหม (ที่หายไป) เล่ม ๑ ภาคความลับ นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการทำหนังสือพระเครื่อง
เพราะ
ไม่มีรูปภาพใด ๆ ทั้งรูปพระ รูปสมเด็จโต รูปวัดระฆัง หรือแม้แต่กราฟิกอื่น ๆ

ปกหน้า มีแต่ข้อความ
๒๔๑๔ สร้าง ๘๔,๐๐๐ องค์
๒๕๐๐ พบ ๒,๙๕๐ องค์
๒๕๕๙ เผยความลับ

ปกหลัง เว้นว่าง เป็นปกเปล่า ๆ ไม่มีข้อความ หรือรูปใด ๆ

ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า กว่าจะเป็นปกแบบนี้ ผู้เขียนต้องโน้มน้าวคนไม่เห็นด้วยถึงสองคน

คนแรก
คือลูกสาวที่จบด้านกราฟิกดีไซน์ ลูกถามพ่อว่า จะทำหนังสือพระสมเด็จโดยไม่มีรูปสื่อถึงเนื้อหาในเล่มหรือไม่ลงรูปพระ แล้วคนเห็นจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นหนังสืออะไร
ผู้เขียนตอบว่า หนังสือพระที่ปกมีรูปพระเกร่อเต็มตลาดไปหมดแล้ว ยิ่งถ้าเป็นรูปพระสมเด็จจะมีปัญหาเรื่อง แท้ไม่แท้ นิยมไม่นิยม ถูกใจหรือไม่ถูกใจ ของคนที่เห็นอยู่แล้ว อย่าให้เขาตัดสินใจหนังสือเล่มนี้จากปกเลย
ผู้เขียนเคยเห็นหนังสือที่นักวิชาการท่านหนึ่งเขียน ก็รู้สึกน่าสนใจ แต่พอดูรูปพระสมเด็จที่ลงหน้าปก กลับหมดอารมณ์ ไม่อยากซื้อขึ้นมา เพราะเนื้อหาอาจใช่ แต่รูปพระไม่ใช่
 ผู้เขียนขอทำหนังสือปกเชย ๆ อย่างนี้ ให้ผู้อ่านเปิดเข้าไปดูเนื้อหาภายในเล่ม แล้วตัดสินใจด้วยตัวเองดีกว่า
ว่าหนังสือเล่มนี้ น่าสนใจ น่าซื้อ หรือไม่

คนที่สอง     
คือเพื่อนผู้เขียนที่ทำงานด้านการตลาด เพื่อนถามผู้เขียนว่า สมัยนี้คนเข้าร้านหนังสือไม่มีเวลา จะดูจากปกว่าเป็นหนังสืออะไร ใจคอจะไม่มีข้อความบอกให้รู้ว่าข้างในเป็นหนังสืออะไร ไม่มีข้อความเชิญชวนให้เขาซื้อเลยหรือ
ผู้เขียนตอบว่า แบบนั้นมันทำกันทุกเล่ม เหมือนเป็นสูตรสำเร็จ เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ บางครั้งก็เกินเลยไป เช่นโปรยหัวว่า อ่านเล่มนี้จะรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับพระสมเด็จ หรืออ่านแล้วดูพระสมเด็จได้ด้วยตัวเอง
โธ่ พระสมเด็จมันดูง่ายแบบนี้เลยหรือ
ผู้เขียนศึกษามากว่า ๒๐ ยังต้องเรียนรู้จากข้อมูลใหม่ ๆ ทุกวัน

สรุป

ผู้เขียนเถียงชนะทั้งสองคน หรือจะเป็นว่าทั้งสองคนไม่อยากต่อล้อต่อเถียงกับผู้เขียน ก็ไม่ทราบ
(จบตอน ๑)
..............................................

มาร่วมสนุกกันไหม

ท่านผู้อ่านมีความเห็นเกี่ยวกับปกหนังสือ พระสมเด็จบางขุนพรหม (ที่หายไป) เล่ม ๑ อย่างไร
เขียนมาเล่าสู่กันฟังสัก ๓ – ๔ บรรทัด หรือมากกว่านั้นก็ได้
ความเห็นของท่านผู้อ่าน ๕ ท่าน ที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับผู้เขียน จะได้รับพระพุทธุปบาทปิลันทน์ย้อนยุคพร้อมกล่องเดิมที่วัดระฆังสร้างเมื่อปี พ,ศ, ๒๕๓๙ ให้ท่านละ ๑ องค์
ส่งความเห็นของท่านมาที่ เฟซบุ๊ค หรือ เว็บพระสมเด็จดอทเน็ตแห่งนี้ ภายในวันพฤหัสที่ ๒๐ กันยายน นะครับ


.............................................