Monday, July 25, 2016

เล่าเรื่องเก่า โยงเรื่องใหม่ (ตอน ๔) - ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙


๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙

ผู้ชมโปรดอ่าน : เล่าเรื่องเก่า โยงเรื่องใหม่ (ตอน ๔)

 
สิ่งแปลกที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นเคล็ดอย่างหนึ่งของการสะสมพระเครื่องคือ ยิ่งให้ก็ยิ่งได้

ผู้เขียนแจกพระไปมากเท่าไหร่ก็ได้พระกลับคืนมามากกว่าเก่า เหมือนท่านจะรู้ว่าอยู่กับผู้เขียนมีโอกาสไปถึงมือผู้ศรัทธา เพราะผู้เขียนเชื่อเสมอว่าที่พระท่านมาหาผู้เขียนไม่ใช่เพื่อให้ครอบครอง แต่เพื่ออาศัยผู้เขียนเป็นทางผ่านไปหาเจ้าของที่แท้จริง

เคล็ดอีกอย่างหนึ่งคือความตั้งใจ ถ้าเราตั้งใจอยากได้พระประเภทใดประเภทหนึ่งหลังจากอ่านหรือศึกษามาพอสมควร บ่อยครั้งที่ไม่นานก็จะได้พระนั้นมา และถ้าเราตั้งจิตอีกว่าอยากเห็นท่านมาหาเราเยอะ ๆ เชื่อเถอะ ไม่นานจะมีมาให้เห็นหลาย ๆ องค์

ผู้เขียนยกตัวอย่างพระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์ที่ได้มาเป็นองค์แรก ผู้เขียนดีใจและชื่นชมพระองค์นี้มากเพราะสวยทั้งเนื้อทั้งพิมพ์ เสียอย่างเดียวคือพระถูกฝนถึงซุ้มไปทำน้ำมนต์ ที่รู้เพราะสอดคล้องกับหนังสือรุ่นเก่าที่เล่าว่าสมัยห่าปีระกาปีพ.ศ. ๒๔๑๖ หลังสมเด็จโตมรณภาพไม่นาน ท่านมาเข้าฝันชาวบ้านแถวอัมพวา สมุทรสงคราม ให้เอาพระของท่านฝนทำน้ำมนต์รักษาโรค

ความรู้เรื่องตำนานและประวัติศาสตร์สอดคล้องกับสภาพของพระ รอยฝนเป็นรอยเก่านับร้อยปี พระหนากว่าปรกติอาจเป็นเพราะท่านสร้างเพื่อให้ทำน้ำมนต์ก็เป็นได้ แสดงว่าเจ้าของเดิมศรัทธาท่านมากจนนำมาทำน้ำมนต์โดยไม่เสียดายสภาพพระ

ถึงจะดีใจที่ได้ท่านมาครอบครองอย่างไม่คาดฝันและไม่ต้องใช้เงินเช่าบูชา แต่ก็อดน้อยใจไม่ได้ว่าสมเด็จโตให้พระของท่านทั้งที ทำไมไม่ให้องค์ที่มีสภาพสมบูรณ์กว่านี้

ความคิดนี้ทำให้ผู้เขียนใฝ่หาพระสมเด็จพิมพ์ปรดโพธิ์เป็นลำดับแรกก่อนพิมพ์อื่น ตอนนั้นยังไม่กล้าอาจเอื้อมถึงพิมพ์ใหญ่ คิดอย่างเดียวทำไมจะได้พระพิมพ์ปรกโพธิ์ที่สมบูรณ์กว่านี้ ความตั้งใจทำให้เริ่มต้นสะสมพระพิมพ์ปรกโพธิ์อย่างจริงจัง เจอที่ไหนเป็นอดเช่าไม่ได้ ไปเชียงใหม่เดินเที่ยวตลาดทิพยเนตรเห็นพระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์เข้าถึงกับเทกระเป๋าเช่าก่อนขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพ

อย่างที่บอก ยิ่งตั้งใจยิ่งได้พระพิมพ์ปรกโพธิ์หลากหลายทั้งพิมพ์ทั้งเนื้อ ตอนเริ่มทำเว็บพระสมเด็จดอทเน็ตใหม่ ๆ ยังเขียนบทความพระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์เป็นคอลัมน์ต่างหาก

มีสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์องค์หนึ่งที่หาได้ยากมากเพราะปรกติพิมพ์ปรกโพธิ์จะมีสองแบบ แบบพิมพ์เกศบัวตูมมีมากที่สุดพิมพ์เจดีย์มีน้อยลงมา ส่วนแบบพิมพ์ใหญ่ที่มีใบโพธิ์หายากที่สุด ผู้เขียนได้พระพิมพ์นี้อย่างฟลุ้ก ๆ

เรื่องมีอยู่ว่า  ผู้เขียนไปเดินคลองถมเย็นวันเสาร์ ฝนตกหนักไปไหนไม่ได้ต้องหลบฝนอยู่หน้าร้านโทรศัพท์มือถือ ตรงนั้นมีอาแปะนั่งขายพระเป็นประจำ ความที่อยู่ว่าง ๆ ก็ลองส่องพระในกล่องที่วางขายเป็นการฆ่าเวลา

เชื่อไหม เจอพระองค์นี้ คนขายโทรศัพท์เล่นพระเหมือนกัน แต่เขาแปลกใจที่ทำไมไม่รู้ว่าอาแปะมีพระพิมพ์นี้ เขาเห็นอาแปะทุกวันแต่ไม่คิดส่อง ผู้เขียนเองถ้าฝนไม่ตกก็ไม่คิดส่องพระเช่นกัน นับว่าเป็นเหตุบังเอิญจริง ๆ

พอสะสมพระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์ได้องค์สวย ๆ และองค์แปลก ๆ ที่ลงในหนังสือของแฉล้ม โชติช่วง บ้าง กับ เทพศรี มาหลายองค์ ก็เริ่มหลงเสน่ห์พระสมเด็จพิมพ์อื่น ๆ โดยเฉพาะพิมพ์ใหญ่ที่ยิ่งศึกษาก็ยิ่งหลงใหล เพราะสมเด็จโตซ่อนปมให้ค้นคิดโดยไม่มีที่สุด กว่าสิบปีที่ผู้เขียนถอดปริศนาของพิมพ์ออกมาได้หลายประการ แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่รอให้หาคำตอบ

ยิ่งศึกษาพระพิมพ์ใหญ่ก็ยิ่งเข้าลึกถึงขนาดแบ่งยุคการสร้างพระเนื้อผงได้เป็น ๔ ยุคตามที่ได้เขียนลงใน ถอดรหัสพระสมเด็จ ของเว็บพระสมเด็จดอทเน็ต และนำมาพาดหัวให้เห็นชัด ๆ ในเว็บพระเครื่องดอทเน็ต

จากสมเด็จโตก็ศึกษาพระรุ่นหลังของหลลวงปู่นาคหลวงปู่หิน เห็นพระสองหลวงปู่ผ่านตาจนคิดว่าวันหนึ่งจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับพระของสองหลวงปู่แบบพิมพ์ประกบกัน ด้านหนึ่งเป็นพระหลวงปู่นาค ด้านหลังพลิกกลับมาเป็นเรื่องพระหลวงปู่หิน

จากวัดระฆังข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาฝั่งกรุงเทพไปที่วัดบางขุนพรหมในก่อน ได้พระสมเด็จบางขุนพรหมที่มีคราบกรุหลายองค์ แต่ยังไม่รู้แน่ว่าคราบแบบไหนเป็นของกรุนี้ ต่อมาก็หันมาสะสมบางขุนพรหม ๐๙ เพราะสร้างจำนวนมากและมีผงเก่าครั้งเปิดกรุ แต่พอรู้ว่าก่อนหน้านี้หลวงตาพันกับหลวงปู่ลำภูเอาพระแตกหักมาบดทำพระตั้งแต่ปี ๒๕๐๒ ก่อนบางขุนพรหม ๐๙ หลายปี จึงหันมาสนใจพระของสองเกจิอาจารย์บ้างเพราะมีผงเก่ามากกว่าพระบางขุนพรหม ๐๙ โดยเฉพาะพระหลวงตาพันมีมากพิมพ์และหลากหลายเนื่อแบบว่าเขียนหนังสือได้หลายเล่มเช่นกัน

ถึงตอนนั้นคิดว่าอินทรีย์แก่กล้า มีความรู้พอที่จะถ่ายทอดเรื่องพระสมเด็จในมุมมองที่ไม่เหมือนใครเพราะศึกษาด้วยตัวเองมาตลอด อยากให้คนอ่านได้มีทางเลือกบ้าง ไม่ใช่ให้สายพุทธพาณิชย์ชักจูงให้สะสมแต่พระที่ตัวเองโปรโมท ทั้ง ๆ ทีมีพระดีจำนวนมากที่ราคาไม่แพง ในปี ๒๕๕๑ จึงเปิดเว็บพระสมเด็จดอทเน็ตให้รู้ว่าพระสมเด็จสายวิชาการยังไม่ตาย คนที่สนใจศึกษาพระสมเด็จด้านพุทธศิลป์และด้านวิชาการจะได้มีเว็บที่ให้ความรู้ล้วน ๆ โดยไม่มีนัยยะแอบแฝง

มาถึงวันนี้ก็เข้าปีที่ ๘ แล้วที่เว็บพระสมเด็จดอทเน็ตได้เสนอความเห็นเรื่องพระเครื่องอย่างตรงไปตรงมา แต่ความคิดที่จะเผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์ยังมีอยู่ในใจผู้เขียนตลอดเวลา


............................................... จบตอน ๔

No comments:

Post a Comment