Monday, July 25, 2016

เล่าเรื่องเก่า โยงเรื่องใหม่ (ตอน ๓) - ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙


๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙

ผู้ชมโปรดอ่าน : เล่าเรื่องเก่า โยงเรื่องใหม่ (ตอน ๓)

นิสัยเฉพาะตัวของผู้เขียนในการสะสมพระเครื่องอีกอย่างหนึ่งคือการให้พระแก่คนใกล้ชิด อยากให้เขามีพระดีติดตัวไว้คุ้มครอง เป็นการให้โดยไม่มีค่าตอบแทนเพราะตั้งใจตั้งแต่ตอนเล่นพระใหม่ ๆ ว่าจะสะสมพระแบบพุทธพาณิชย์ทางเดียว คือใช้เงินเช่าบูชาเพื่อให้ได้พระมา แต่ตอนออกไปจะให้เปล่าไม่ขายพระ

ความตั้งใจนี้ไม่เปลี่ยนแปลงแม้จะมีเว็บพระเครื่องดอทเน็ต เพราะจุดประสงค์ไม่ใช่ทำเงินจากการขายพระในเน็ต แต่เป็นห้องปฏิบัติการหรือแล็บให้ผู้สนใจพระเครื่องได้หาประสบการณ์จริง โดยจำลองสภาพตลาดพระมาไว้ในโลกอินเตอร์เน็ต

ถ้าเว็บพระสมเด็จดอทเน็ตให้ความรู้ในภาคทฤษฎี เว็บพระเครื่องดอทเน็ตจะให้ความรู้ในภาคปฏิบัติ จะเห็นได้จากการไม่เปิดขายให้คนทั่วไป ต้องสมัครสมาชิกก่อนให้ได้เฉพาะผู้ที่สนใจศึกษาได้ซื้อโดยมีส่วนลดพิเศษ ไม่ใช่ให้นักขายพระอาชีพซื้อมาถูกขายไปแพง

เว็บพระเครื่องดอทเน็ตจึงไม่ใช่เว็บขายพระแบบที่อื่น แต่เป็นเสมือนห้องทดลองหรือปฏิบัติการภาคสนามสำหรับผู้สนใจศึกษาเพื่อสะสม ไม่ใช่เพื่อพุทธพาณิชย์

ผู้เขียนจะให้พระตามกาละและเทศะ

ช่วงปีใหม่สมัยยังเปิดบริษัทจะเลี่ยมทองให้พนักงานในบริษัทที่ทำงานกันมานาน รวมทั้งให้เป็นของขวัญปีใหม่แทนกระเช้าสำหรับคนนอกที่มีส่วนช่วยงาน ความคิดนี้มาจากหุ้นส่วนที่ว่าของขวัญที่เป็นของกินกับเครื่องดื่ม ไม่นานก็หมดเหลือแต่กระเช้า แต่ถ้าเราให้พระเขาจะเก็บไว้ ยิ่งถ้าเลี่ยมทองให้ด้วยจะรักษาไว้เป็นพิเศษหรือขึ้นคอบูชาสำหรับคนที่ศรัทธา

ช่วงวันเด็กหลายปีที่ผู้เขียนจะหาพระองค์เล็กเลี่ยมให้คนรู้จักนำไปแจกเด็กเป็นของขวัญ บางครั้งจะติดสร้อยสเตนเลสหรือเชือกร่มให้ใส่ขึ้นคอบูชาได้เลย เชื่อไหมเมื่อปี ๒๕๔๔ ผู้เขียนเคยเลี่ยมพระพุทโธน้อยของคุณแม่บุญเรือนกับพระกลีบบัววัดลิงขบแจกเด็กมาแล้ว พระองค์เล็กอีกแบบที่ผู้เขียนเลี่ยมแจกเด็กคือพระหลวงพ่อทวดองค์จิ๋วที่เซียนพระไม่ยอมรับ หลวงพ่อทวดจะคุ้มครองผู้ศรัทธาสวมใส่ไม่ว่าพระนั้นจะแก้หรือไม่แท้ก็ตาม จึงเหมาะสำหรับเด็กที่ชอบซุกซน

การให้พระแก่เด็กนอกจากให้มีพระไว้คุ้มครองแล้วยังเป็นอุบายให้เขาไม่ห่างพุทธศาสนา วันนี้มีพระอยู่ในตัว วันหน้าอาจมีพระอยู่ในใจได้เข้าถึงแก่นแท้คือธรรมะของพระพุทธเจ้า บางครั้งจะสอนคาถาหลวงพ่อโอภาสีติดตัวเวลาไปไกลบ้านในสถานที่ไม่คุ้น เช่นไปเข้าค่ายหรือทำกิจกรรมนอกโรงเรียนที่ต้องค้างคืน คาถานี้ผู้ใหญ่ก็ใช้ได้

“อิติสุขะโต อะระหังพุทโธ นะโทพุทธายะ ปะฐะวีคงคา พระภุมมะเทวา ขะมามิหัง” ป้องกันภัยต่าง ๆ จากเทวดา แม่คงคา แม่ธรณี เจ้าที่ ภูตผีปีศาจ เป็นการขอขมาที่เข้ามาล่วงล้ำในที่ของท่าน

ตอนหลานชายผู้เขียนบวชที่วัดอโศการาม ผู้เขียนให้พระหลวงพ่อลีติดตัว หลานมีความสุขมาก เพราะบวชที่วัดท่านและยังมีพระของท่านไว้อุ่นใจ

สำหรับผู้ใหญ่ที่มีปัญหาหน้าที่การงาน ถูกกลั่นแกล้งหรือฟ้องร้อง ผู้เขียนจะมอบพระไพรีพินาศให้เป็นกำลังใจ เพราะชื่อพระเป็นมงคลนามอยู่แล้วที่คนเป็นศัตรูจะพ่ายแพ้ สมตามที่รัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งชื่อให้พระพุทธรูปที่มีคนมาถวาย เพราะจากนั้นไม่นานศัตรูและอุปสรรคในการขึ้นครองราชย์ก็หมดสิ้นไป

พระพิมพ์นาคปรกเป็นอีกพิมพ์ที่ผู้เขียนจะมอบให้คนเกิดวันเสาร์ เพราะเป็นพระประจำวันเกิดและพุทธศิลป์สวยงาม พระภิกษุธัมมวิตักโกเจ้าคุณพระยานรรัตนราชมานิตปลุกเสกพระพิมพ์นี้ไว้หลายแบบทั้งเหรียญและเนื้อผง พิมพ์ทรงสวยงามมาก แต่ที่สวยที่สุดในความเห็นของผู้เขียนน่าจะเป็นพระนาคปรกของหลวงปู่หินวัดระฆัง ทั้งสองพิมพ์ล้วนสวยงามอลังการ

สำหรับคนที่มีพื้นเพต่างจังหวัด ผู้เขียนมักหาพระประจำจังหวัดให้เป็นของขวัญ คนแปดริ้วก็ต้องหาหลวงพ่อโสธร คนปากน้ำต้องหลวงปู่เผือกวัดกิ่งแก้ว คนนครปฐมต้องหลวงปู่บุญหลวงปู่เพิ่มหรือไม่ก็หลวงพ่อเงินวัดดอนยายหอม คนชัยนาทต้องหาหลวงปู่ศุข คนภูเก็ตต้องหลวงพ่อแช่มวัดฉลอง คนใต้ต้องหาพระหลวงพ่อทวด คนเหนือก็ต้องครูบาศรีวิชัย คนอีสานก็พระป่าสายอาจารย์มั่น

เหตุผลที่หาพระให้เขาอีกอย่างหนึ่งคือผู้เขียนอยู่ในแวดวงพระเครื่อง สามารถหาพระที่ดีในราคาไม่แพง บางองค์สะสมไว้นานตั้งแต่ยังไม่นิยมราคาไม่สูง คนที่ไม่ได้เล่นพระมีโอกาสน้อยกว่าในการหาพระที่ตัวเองศรัทธาและอาจต้องใช้เงินมากกว่าในการเช่าบูชา

การแจกพระก็มีอานิสงส์อีกอย่างหนึ่งที่จะเล่าให้ฟังในตอนหน้า

............................................... จบตอน๓

No comments:

Post a Comment