Monday, July 25, 2016

เล่าเรื่องเก่าโยงเรื่องใหม่ (ตอน ๑๑) - ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙


๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙

ผู้ชมโปรดอ่าน : เล่าเรื่องเก่าโยงเรื่องใหม่ (ตอน ๑๑)

 

ความลับที่จะเล่าให้ฟังอันดับแรกคือ พระสมเด็จยุคสองมีจริง

พระสมเด็จไม่ใช่พระประเภทเหรียญที่มีข้อความระบุถึงเกจิอาจารย์ วัด จุดประสงค์และวันเดือนปีที่สร้าง ยุคของพระสมเด็จต้องอ้างอิงตำราเก่า ๆ ที่เขียนแต่ครั้งโบราณ โยงไปหาประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในช่วงเวลาที่สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ยังมีชีวิตอยู่

พระสมเด็จยุคสองคือพระช่วงแรกที่สมเด็จโตคิดค้นศิลปะของพิมพ์พระสมเด็จเป็นคนแรกที่วัดระฆัง ก่อนพระสมเด็จอรหังที่สร้างขึ้นภายหลัง เป็นพิมพ์ที่หย่อนสวยจากการใช้ช่างชาวบ้านแถว ๆ วัด ซึ่งน่าจะเป็นบ้านช่างหล่อ จากนั้นค่อยมีช่างหลวงเช่นหลวงวิจิตรนิรมลหรือหลวงสิทธิการมาช่วยทำให้พิมพ์ทรงสวยงามขึ้น

ส่วนหลวงวิจารณ์เจียรนัยมาช่วยปรับปรุงพิมพ์เป็นคนสุดท้ายและได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงทั้งเนื้อหาและพิมพ์ทรงของพระสมเด็จ กล่าวคือ การแนะนำให้ใช้น้ำมันตังอิ้วเป็นสารเกาะยึดแทนน้ำอ้อยน้ำผึ้ง และการนำกรอบบังคับพิมพ์ที่เรียกว่า “กรอบกระจก” มาบังคับให้พระมีขนาดเล็กลงและมีสัดส่วนสวยงามเพิ่มขึ้น

ผู้เขียนแยกพิมพ์หลวงวิจารณ์เป็นพระสมเด็จยุคสามเพื่อบ่งถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่ต่างกับช่างอื่น และเพื่อสอดคล้องกับพระสมเด็จพิมพ์นิยมที่เช่าบูชากันแพง ๆ ในปัจจุบัน

ฉะนั้น พระสมเด็จยุคสองคือพระสมเด็จที่สมเด็จโตสร้างที่วัดระฆัง แต่เป็นฝีมือช่างอื่นที่ไม่ใช่หลวงวิจารณ์เจียรนัย

ยกตัวอย่างพระสมเด็จที่ลงในหน้า ๕ ของหนังสือพิมพ์หัวเขียวฉบับวันอาทิตย์เมื่อตอนต้นเดือนหรือแม้แต่ฉบับเมื่อวานนี้ ก็เป็นพระสมเด็จยุคสอง สังเกตได้จากพิมพ์ที่ไม่มีกรอบกระจก และเส้นซุ้มซ้ายที่ไม่แตะกลางกรอบ

หนังสือพระสมเด็จที่วางขายกันเกร่อมีหลายต่อหลายองค์ที่เป็นพระสมเด็จยุคสอง เพราะวงการพระเครื่องสายพุทธพาณิชย์เป็นแบบตัวใครตัวมัน ใครเส้นใหญ่อิทธิพลเยอะเสียงก็ดัง พระยุคสองก็แท้ ส่วนพระยุคสองของคนอื่นไม่แท้หมด

ทั้งนี้เพราะไม่มีใครศึกษาอย่างจริงจังว่าพิมพ์หลวงวิจารณ์เจียรนัยมีเอกลักษณ์ประจำตัวอย่างไร แตกต่างกับช่างหลวงอย่างหลวงวิจิตรนิรมลหรือหลวงสิทธิการตรงไหน สายพุทธพาณิชย์เน้นแต่รายละเอียดปลีกย่อยซึ่งเป็นเหมือนอัตลักษณ์ของพิมพ์มากกว่าที่จะมองหาร่องรอยของศิลปะเชิงช่างซึ่งเป็นเหมือนลายเซ็นต์ของศิลปินแต่ละคน

สายอนุรักษ์นิยมพยายามให้ความรู้แก่ผู้สนใจเกี่ยวกับพระสมเด็จยุคสองเช่นกัน เพียงแต่เรียกรวม ๆ เป็นพระสมเด็จวัดระฆังโดยไม่แบ่งยุคหรือฝีมือช่างผู้แกะแม่พิมพ์ ดังนั้นในหนังสือที่บางกลุ่มพิมพ์ออกมาหลายเล่มจึงมีพระสมเด็จปนกันไปหมด ทั้งยุคสอง ยุคสาม จนถึงยุคสี่ที่ไม่ทันสมเด็จโต

พระสมเด็จบางขุนพรหมที่หายไปก่อนเปิดกรุเหล่านี้ จะไขปริศนาเกี่ยวกับพระสมเด็จยุคสองเนื่องจาก

1.      เป็นพระที่พบในกรุเจดีย์ใหญ่วัดบางขุนพรหมในพร้อม ๆ กับพระสมเด็จที่เสมียนตราด้วงสร้างเพื่อบรรจุกรุ แต่ถูกนำออกมาจากกรุก่อน จึงไม่ปรากฏเป็นหลักฐานให้เห็น

2.      อายุของพระอยู่ในยุคเดียวกันกับพระสมเด็จบางขุนพรหม ตัดปัญหาเรื่องสร้างทีหลังไม่ทันสมเด็จโตได้

3.      คราบกรุที่เป็นแบบเดียวกับพระสมเด็จบางขุนพรหมบ่งชี้ให้เห็นว่ามาจากกรุเดียวกัน

4.      พระที่พบมีจำนวนมากพอที่จะจำแนกฝีมือช่างแกะพิมพ์ที่หลากหลายทั้งช่างราษฎร์ช่างหลวง เนื้อพระมีความแตกต่างระหว่างเนื้อยุคสามที่มีสีขาวคราบเหลืองหรือขาวอมเหลืองจากน้ำมันตังอิ้ว และเนื้อยุคสองสีขาวนวล ขาวออกเขียว หรือขาวออกน้ำตางอ่อนของน้ำอ้อยน้ำผึ้ง

ข้อมูลที่ได้จะนำไปสู่การศึกษาถึงการแบ่งพระยุคสองให้ละเอียดมากขึ้น จากสมเด็จโตเริ่มสร้างพระสมเด็จในสมัยถูกรัชกาลที่ ๔ ตามตัวให้มาอยู่กรุงเทพประมาณปีพ.ศ. ๒๓๙๔ จนถึงยุคสามของหลวงวิจารณ์เจียรนัยในปีพ.ศ. ๒๔๐๙ ก็เป็นเวลา ๑๕ ปีที่มีการพัฒนาพิมพ์ทรงโดยตลอด

พระสมเด็จยุคสองแบ่งคร่าว ๆ ได้อย่างน้อยสองช่วง

ช่วงแรก เป็นพิมพ์ชาวบ้านที่ใช้น้ำอ้อยน้ำผึ้งเป็นสารเกาะยึด เนื้อพระจะเก่าที่สุดเป็นแบบสีขาวอมน้ำตาลนิด ๆ พิมพ์ส่วนใหญ่ไม่สวย ไม่สมส่วนตามลีกษณะพระพุทธรูป

ช่วงหลัง มีการปรับปรุงพิมพ์ให้สวยงามขึ้น ฝีมือช่างเริ่มพัฒนาจนเป็นต้นแบบพิมพ์วัดระฆังที่มีการสร้างเลียนพิมพ์ต่อ ๆ กันมา เช่นพิมพ์วัดระฆัง ๑๐๐ ปี พิมพ์ล่ำหน้าใหญ่ที่ใส่กรอบอยู่หน้ากุฏิเจ้าคุณเที่ยงเจ้าอาวาสวัดระฆัง  และพิมพ์ที่มีส้นแซมใต้ตัก

การแบ่งพระยุคสองข้างต้นเป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้นจากการได้เห็นพิมพ์อันหลากหลายของพระชุดนี้ การศึกษาให้ลึกไปกว่านี้ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องจัดหมวดหมู่พระทั้งหมดตามพิมพ์ทรงและเนื้อให้ครบถ้วนเสียก่อนจึงจะพิจารณาโดยละเอียดได้

ถือเป็นข้อมูลอันมีค่าที่รอให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาร่วมกับผู้เขียนต่อไป

****************** (จบตอน ๑๑)******************

No comments:

Post a Comment