Monday, July 25, 2016

เล่าเรื่องเก่า โยงเรื่องใหม่ (ตอน ๕) - ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

ผู้ชมโปรดอ่าน : เล่าเรื่องเก่า โยงเรื่องใหม่ (ตอน ๕)

 

วงการพระเครื่องยอมรับพระเนื้อผงที่สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้าง เพียงสามวัดเท่านั้น ได้แก่ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดใหม่อมตรสหรือวัดบางขุนพรหมใน และวัดไชโย อ่างทอง

หนังสือพระเครื่องรุ่นเก่าบอกไว้ว่าสมเด็จโตสร้างพระไว้หลายแสนองค์

o    วัดระฆัง ตรียัมปวายเล่าว่าท่านกังวลจะสร้างไม่ครบ ๘๔,๐๐๐ องค์

o    วัดบางขุนพรหมใน เสมียนตราด้วงสร้างบรรจุเจดีย์ประจำตระกูลไว้ ๘๔,๐๐๐ องค์เช่นกัน

o    วัดไชโย สมเด็จโตบรรจุพระไว้ในองค์พระพุทธมหาพิมพ์ที่เป็นพระนั่งองค์ใหญ่ น่าจะ ๘๔,๐๐๐ องค์เช่นกัน

แต่ทำไมมีพระสมเด็จโตในวงการพระเครื่องไม่กี่พันองค์

คำตอบคือ

o    วัดระฆัง สายพุทธพาณิชย์ยอมรับเพียง ๕ พิมพ์ เหลือพระหมุนเวียนไม่ถึงพันองค์

o    วัดบางขุนพรหมใน เปิดกรุพบพระสมบูรณ์เพียง ๒,๙๕๐ องค์

o    วัดไชโย ยังอยู่ในองค์พระเกือบหมด ที่หลุดรอดออกมาตอนองค์พระทรุดพังทลายก็มีข้อกังขา เพราะนักเล่นรุ่นเก่าอย่างตรียัมปวายยอมรับเฉพาะพิมพ์ ๗ ชั้น ไม่ยอมรับพิมพ์ ๖ ชั้นกับพิมพ์อื่น

พระสมเด็จที่มีน้อยไม่พอกับความต้องการของผู้ศรัทธา ทำให้เกิดการเสาะแสวงหาพระสมเด็จโตจากกรุตามวัดต่าง ๆ ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับท่านและอาจมีพระของท่านบรรจุกรุอยู่

ตรียัมปวายเล่าไว้ในหนังสือของท่านว่าพระธรรมถาวรที่เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดบอกว่ามีแค่ในเจดีย์ใหญ่วัดใหม่อมตรสกับองค์พระยืนอุ้มบาตรวัดอินทร์เท่านั้น ส่วนวัดอื่นที่ตรียัมปวายเล่าว่ามีคนไปลักลอบขุด เช่นวัดศรีสุดาราม วัดตะไกร วัดละครทำนั้น ไม่พบพระแต่อย่างไร

แฉล้ม โชติช่วง อ้างถึงบันทึกหลวงปู่คำวัดอมรินทรารามถึงพระใหญ่ที่สมเด็จโตสร้างไว้ตามที่ต่าง ๆ ได้แก่

o    พระนอน ที่วัดสะตือ อยุธยา

o    พระนั่ง ที่วัดไชโย อ่างทอง

o    พระยืน ที่วัดกลางคลองข่อย ราชบุรี

o    พระนั่ง ที่วัดพิตเพียน (กุฎีทอง) อยุธยา

o    พระเจดีย์นอน ที่วัดละครทำ งธนบุรี

o    และพระยืน ที่วัดอินทรวิหาร ฝั่งกรุงเทพ

นอกจากวัดไชโยกับวัดอินทร์ที่มีประวัติแน่นอนว่ามีพระบรรจุอยู่ วัดที่เหลือเป็นเพียงตำนานเล่าขานให้ผู้ศรัทธาค้นหาว่ามีพระของสมเด็จโตหลงเหลืออยู่หรือไม่

ผู้เขียนเป็นหนึ่งในจำนวนคนเหล่านั้น

ตลอดระยะเวลากว่า ๒๐ ปีที่ผู้เขียนสนใจพระสมเด็จ ได้พบพระสมเด็จโตที่ว่ากันว่ามีคนไปบรรจุไว้ตามวัดต่าง ๆ มากมาย ถ้าดูแล้วเป็นพระรุ่นเก่าถึงยุค แท้ ราคาไม่แพง ผู้เขียนเก็บสะสมหมด ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ใด นิยมหรือไม่

พระสมเด็จวัดต่าง ๆ ที่ผ่านตา ได้แก่

o    วัดระฆัง มีทั้งที่อยู่ในบ่อน้ำมนต์กับบรรจุไหเก็บไว้ที่เพดานโบสถ์

o    วัดใหม่อมตรส มีพระพิมพ์สมเด็จจากกรุเจดีย์เล็ก

o    วัดอินทรวิหาร มีทั้งที่เก็บอยู่ในองค์พระยืนกับที่แช่น้ำมนต์

o    วัดขุนอินทประมูล มีพิมพ์ฐานหนุนกับพิมพ์อื่น

o    วัดราชสิงขร มีพิมพ์ครบตามพระสมเด็จบางขุนพรหม

o    วัดกัลยาณมิตร ที่มีข่าวพระแตกกรุไม่นาน

o    วัดอื่น ๆ ที่พบในจำนวนไม่มาก ได้แก่ วัดราชโอรส มีทั้งพิมพ์สมเด็จโตและหลวงปู่ภู วัดชิโนรส วัดราชประดิษฐ์ วัดเจ้าอาม วัดหนองปรือ วัดละครทำ วัดอมรินทร์ มีพระหลวงปู่คำ วัดเครือวัลย์ เป็นต้น

พระพิมพ์สมเด็จที่ผ่านตาและมีสะสมไว้บ้างนั้น พิมพ์ทรงส่วนใหญ่ไม่เหมือนพิมพ์นิยมที่เล่นหากันแพง ๆ เนื้อหาหลากหลายแตกต่างออกไปก็มี ล้วนเป็นพระเนื้อผงยุคเก่า แต่จะเก่าเป็นร้อยปีและทันสมเด็จโตหรือไม่นั้น ผู้เขียนยังไม่วิเคราะห์ให้ลึกซึ้งลงไป เพียงแต่เก็บสะสมไว้สำหรับวันข้างหน้าเมื่อเห็นพระมามากพอและมีความเข้าใจพระสมเด็จโตเต็มที ก็จะนำพระเหล่านั้นมาศึกษาอย่างละเอียดว่าเป็นพระที่สมเด็จโตสร้างหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ จะเป็นพระยุคท่านที่สร้างโดยเกจิอาจารย์ท่านอื่น หรือสร้างขึ้นภายหลัง

ตั้งใจถึงขนาดจะเขียนเป็นหนังสือให้เป็นเรื่องเป็นราว ชื่อหนังสือตั้งอยู่ในใจแล้ว เพียงแต่รอเวลาและความพร้อมด้านความรู้ความเข้าใจ

ถึงกระนั้นก็มีพระบางกรุที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วไป ทำให้ต้องลัดคิวนำมาพิจารณาก่อนเพราะอยากวิเคราะห์ให้ผู้สนใจสะสมได้รับรู้ข้อมูลทางวิชาการก่อนจะหลงเช่าบูชา

ตัวอย่างแรกคือพระสมเด็จวัดอินทประมูลที่ผู้เขียนวิเคราะห์แล้วลงความเห็นว่าไม่ทันสมเด็จโต ท่านผู้อ่านที่สนใจติดตามได้ในบทความเก่าชุด ถอดรหัสพระสมเด็จ ในเว็บพระสมเด็จดอทเน็ต ที่ลงไว้เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๒ ชื่อเรื่อง พระสมเด็จกรุวัดขุนอินทประมูล : แผนสกัดดาวรุ่ง

พระสมเด็จวัดราชสิงขร เป็นอีกวัดที่ผู้เขียนนำมาเล่าให้ฟัง เพราะมีบทความจากนิตยสารรุ่นเก่าสนับสนุน คนเขียนถึงกับบอกว่ามีหลายพิมพ์ที่เล่นหากันเป็นพระสมเด็จบางขุนพรหมเลยทีเดียว ผู้เขียนสะสมพระกรุนี้ไว้พอสมควร มากพอที่คิดว่าทำหนังสือพระสมเด็จกรุนี้ได้

แต่ที่ใกล้เคียงกับพระสมเด็จโตมากที่สุดในด้านเนื้อหาและพิมพ์ทรงก็น่าจะเป็นพระสมเด็จกรุวัดกัลยาณมิตร เพราะมีครบทุกพิมพ์ของบางขุนพรหม แถมยังมีพระวัดอื่น เช่นเกศไชโย และวัดสามปลื้ม มารวมอยู่ด้วย

พระกรุนี้ทำให้ผู้เขียนตามเก็บจนครบทุกพิมพ์ ด้วยความกำลังใจเต็มเปี่ยมที่จะทำหนังสือฉบับแรกของการเขียนหนังสือพระเลยทีเดียว


............................................... จบตอน ๕

No comments:

Post a Comment