Tuesday, July 17, 2012

วงการพระเครื่องสิ้นปี 2555_17 ก.ค. 55


สวัสดีท่านผู้อ่าน
                ตอนนี้เท่าที่สำรวจดูตามแผงหนังสือ และถามไถ่คนในวงการที่รู้จัก วงการพระเครื่องอยู่ในสภาพของ
1.       ไม่มีของขาย
2.       ถึงมีราคาก็แพง
3.       บูมพระไม่ขึ้น
              พูดง่าย ๆ ตอนนี้วงการทั้งหมดถ้าเป็นธุรกิจ ก็ต้องบอกว่าเป็นขาลงหรือที่เรียกว่า Sunset  คือ พระอาทิตย์ตก ความมืดทะมึนกำลังเข้ามาเยือน 
                ศูนย์พระที่เปิดกันทั่วเมือง ศูนย์พันธุ์ทิพย์ที่น่าจะไปลง Guiness Book ได้ว่าเป็นศูนย์พระเครื่องที่ใหญ่ที่สุด กำลังอยู่ในสภาพตกอับ ความโลภจากเจ้าของใหม่ที่ขึ้นค่าเช่าทุกปี กำลังผลักดันให้เกิดการย้ายออก ศูนย์มณเฑียรก็ได้ข่าวว่าจะย้ายไปที่อื่นที่ค่าเช่าถูกกว่า
                ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเซียนใหญ่ ที่กุมบังเหียนสมาคมก็ยังพอหายใจได้ มีน้ำเลี้ยงจากเศรษฐีมือใหม่ที่อยากมีพระเครื่องไว้อวดบารมี หลังจากมีรถเบ๊นซ์เต็มบ้าน แต่พวกอยู่ห่างไกลออกไปเริ่มรู้ถึงความหนาวเย็น และความอดอยากที่กำลังคืบคลานเข้ามา เพราะอยู่ไกลเกินไปฝนตกไม่ทั่วฟ้า ผลประโยชน์ไปไม่ทั่วถึง
                สองปีก่อนมีการงัดรูปแบบการตลาดแบบใหม่ โดยการ “แช่ง” หรือออกข่าวว่าเกจิดังโคราชจะละสังขาร ปั่นพระของท่านขึ้นราคาโดยทั่วหน้า พิมพ์กรรมการบางพิมพ์โดดเข้าใกล้หลักแสน บาปกรรมไม่รู้จะเท่าไหร่
                การตลาดแบบผลักดันราคาให้สูงติดเพดาน เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น เผื่อตัวเองและกลุ่มจะได้ไปรอด  แต่ไม่ใช่การตลาดที่ยั่งยืน เพราะพระเครื่องไม่ใช่สินค้าไอที ที่ทุก 2 ปี ราคาจะถูกลงครึ่งหนึ่ง หรือราคาคงที่แต่แรงขึ้น 2 เท่า
                พระเครื่องกับมีของจำกัด หมดแล้วหมดเลยของใหม่สู้ของเก่าไม่ได้ ยิ่งของเก่าก่อนปี พ.ศ.2500 ยิ่งเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณ เพราะพระเกจิผู้สร้างสรรค์ได้อาศัยธรรมชาติของป่าเขาลำเนาไพร บำเพ็ญภาวนาสร้างพลังจากสมบัติที่จากการปลีกวิเวกปฏิบัติธรรม
                หลังปี พ.ศ. 2500 เกจิที่เป็นหลักในวงการก็คือ หลวงพ่อพรหมวัดช่องแค กับหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ และบารมีจากหลวงพ่อทวด ที่เปิดศักราชใหม่ให้กับวงการพระเครื่องที่ยืนยงจนถึงทุกวันนี้ เริ่มจากพระเนื้อว่านพิมพ์เล็บมือและเล็บเหยี่ยว ในปี พ.ศ.2497 ตามด้วยพระเนื้อชิน หลังเตารีดในปี พ.ศ. 2505 แพร่หลายไปที่วัดทางใต้และกรุงเทพในยุคหลวงปู่ทิม ต่อเนื่องมาถึงอาจารย์นองวัดทรายขาว และวัดห้วยมงคลในปัจจุบัน
                แต่ก็นานหลายปีมาแล้ว พิษสงจากจตุคามรามเทพยังไม่หายจากความทรงจำ ก็เจอภัยจากการเมืองเมื่อ 2 ปีก่อน และภัยธรรมชาติเมื่อปีที่แล้ว
                ปีนี้ปลายปีจะเจออะไร
                แน่นอนภัยเศรษฐกิจจากยุโรปกำลังจ่อคิวอยู่ หลังโอลิมปิกเกมส์ที่ลอนดอนทุกคนจะหนาว จากภัยเศรษฐกิจจากประชาคมยุโรป แผ่มาถึงเอเซียและประเทศไทย
                ถ้าภัยของการเมืองปะทุในช่วงนั้น ตามด้วยภัยธรรมชาติซึ่งมีสัญญาณเตือนจากอริยสงฆ์สายวัดป่าว่าน้ำจะท่วมมากกว่าปีที่แล้ว
                วงการพระเครื่องปลายปี พ.ศ. 2555 มีอย่างเดียว
                เงียบและเงียบ


วิภัชวาที
ป.ล.  คราวหน้าจะเป็นตอนจบของมินิซีรี่นี้ครับ

Sunday, July 1, 2012

รายงานสภาพตลาดพระ_ 1 กค 2555

สวัสดีท่านผู้อ่าน

เมื่อวานไปตลาดนัดจตุจักร แวะคุยที่แผงพระคนคุ้นกันหลายแผง ดูเงียบเหงาจัง ขนาดนั่งคุยเป็นชั่วโมงบนแผงด้านถนนกำแพงเพชรฝั่งตรงข้าม อตก ยังไม่มีคนมาดูพระเลย
คนขายบอกเงียบมา 2 เดือนแล้ว

พันธุ์ทิพย์งามวงศ์วานก็ได้ข่าวว่ามีแต่คนขาย เดินไปเดินมาเหมือนกัน
สองวันก่อนไปดูหนังสือพระตามแผงก็ไม่มีพระอะไรเด่นเป็นพิเศษ เหมือนว่ามันเนือย ๆ ไม่มีการโปรโมทพระให้ตื่นเต้นเร้าใจ

เกิดอะไีรขึ้นกับวงการพระเครื่องหรือ

คำตอบก็คือวงการพระเครื่องเลยจุดสูงสุดของความเป็นธุรกิจแล้ว และกำลังอยู่ในขาลง

ก่อนหน้านี้ก็ปีพ.ศ. 2540 ที่ตกต่ำสุด ๆ จากพิษเศรษฐกิจซบเซาจากการลดค่าเงินบาท มาฟื้นตัวได้สมัยทักษิณเป็นนายก และขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี 2549 เมื่อกระแสจตุคามรามเทพมาแรงจัด พอจตุคามรามเทพสร้างกันแทบจะทุกวัดทั่วประเทศ คนขายพระแฮปปี้กันทั่วหน้า ใคร ๆ ก็ขายจตุคาม ร้านเลี่ยมพระแทบจะว่าเลี่ยมจตุคามตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนเกือบเที่ยงคืน พวกเพ้นท์สีก็ทำกันจนตาลาย โรงงานทำตลับฉวยโอกาสขึ้นราคาตลับทุกชนิด วัด 200 กว่าวัดสร้างจตุคามออกมารวม ๆ เป็นหลักหลายร้อยล้านองค์
supply ก็ท่วม demand คนในวงการที่กลับตัวไม่ทันก็เจ็บตัวทั้งผู้ซื้อผู้ขาย

จากนั้นเซียนใหญ่ก็คิดแผนการตลาดใหม่ เอาตัวรอดแต่พวกตัวเอง บูมราคาพระแบบบ้าเลือด เริ่มจากต่อยหมัดหนึ่งสองให้การ์ดตกก่อน หมัดหนึ่ง ตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านเหรียญพร้อมกับเปิดตัวเคล็ดลับตัวตัด เหรียญใครขอบไม่ตัดตามนั้น ตีเก๊ทันที ทฤษฎีดูเหรียญอย่างอื่นเป็นพับไป แล้วตามด้วยหมัดสอง ออกหนังสือเหรียญเพื่อเผยแพร่เป็นตำรา หนังสือเหรียญแม้แต่ของสามารถ คงสัตย์ ก็ใช้ไม่ได้ ลูกกะตาไม่มีความหมาย ดูตัวตัดอย่างเดียว
หมัดน็อคเอาท์เข้าคางคือการดันเหรียญตัวท้อป คือเหรียญหลวงพ่อกลั่นวัดพระญาติให้ทะลุ 10 ล้าน เท่านี้เหรียญเบญจภาคีอื่น ๆ เช่นหลวงพ่อคง หลวงปู่ศุข หลวงปู่เอี่ยม ก็ทะลวงผ่านหลักล้านอย่างง่ายดาย เปิดทางให้เหรียญแถวหน้าที่รอคิว เช่นเหรียญหลวงพ่อแดงวัดเขาบันไดอิฐ ทะลุขึ้นหลักหลาย ๆ แสน

ทีนี้มาถึงพระชุดอื่นบ้าง หลวงพ่อทวดวัดช้างให้เนื้อว่านก็ถูกดันให้ทะลุหลักล้าน ในขณะที่เนื้อโลหะหลังเตารีดปี 2505 ก็ทยานขึ้นหลักหลายแสน ดึงเอาพระรุ่นที่ไม่ทันอาจารย์ทิมเช่นพระปี 2524 ทะลุหลักหมื่น

ล่าสุดที่รายงานเมื่อสองวันก่อนคือพระกำแพงลีลาเม็ดขนุน ซึ่งเคยครองตำแหน่งพระเบญจภาคีก่อนที่จะถูกพิมพ์ซุ้มกอเขี่ยตกบัลลังก์ ก็บูมกันจนใกล้หลัก 10 ล้านแล้ว

วิธีโปรโมทพระให้มีราคาแพงหูฉี่ก็คือกลยุทธ์การตลาดที่ว่า เมื่อพระมีน้อย ต้องทำกำไรต่อองค์ให้มากที่สุด คือขึ้นราคาให้หายบ้าไปเลย
ปัญหาที่ตามมาก็คือตัวเองไม่สามารถผูกขาด supply ที่จะเข้าตลาดได้ เพราะไม่ใช่พระใหม่ แต่เป็นพระเก่านับร้อยปีขึ้นไปที่แพร่หลายอยู่หลายสิบปีแล้ว ดังนั้นไม่ใช่เฉพาะกลุ่มของตัวเองที่มีพระเหล่านั้น พอพระแพงคนอื่นเขาก็มีเหมือนกัน
แต่พอเขาจะขายราคาแพง ๆ แบบของตัวมั่ง ผลประโยชน์ที่ขัดกัน หรือที่ตัวเองไม่ได้อะไรเพราะไม่ใช่พระในกลุ่มตัวเอง ก็เกิดการสวดพระของเขาขึ้น
ถ้าคนถูกสวดเป็นนักเล่นพระหน้าใหม่หรือเซียนเล็ก ๆ ก็ต้องทำตาปริบ ๆ ยอมรับสภาพ แต่ถ้าเป็นเซียนใหญ่มีพวกมากก็โต้ตอบได้ ประเภท คุณสวดพระผม ผมก็สวดพระคุณบ้าง
แล้วคนซื้อไม่งงเต้กหรือ

ยิ่งพระยิ่งแพงขึ้น ๆ คนซื้อก็เหลือกลุ่มเดียว คือเศรษฐีที่มีเงินถุงเงินถัง แต่พวกนี้ก็ไม่โง่ พวกก็เยอะ ที่ปรึกษาก็เพียบ แถมตอนคืนพระยังมีคนมีสีให้ใช้บริการอีก
ส่วนชาวบ้านธรรมดา ๆ ที่เผอิญมีพระที่ว่าก็อยากได้เงินมั่ง คิดว่าเขาขายพระราคาหลายล้าน ก็คงซื้อเข้าหลายแสน พอเอาเข้าจริง ๆ ก็ถูกล้อมหน้าล้อมหลัง ตีเหมาเป็นพระเก๊ แต่ขอซื้อหลักหมื่นเอาไว้ศึกษา

มีเรื่องเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่ง
พรรคพวกที่เป็นคนขายพระอยู่คนหนึ่งลองเอาพระรูปหล่อหลวงพ่่อเงินวัดบางคลานพิมพ์นิยม สวยเชียะขนาดชนะการประกวดถึง 5 โล่ ตั้งราคา 3.5 ล้านบาทให้พวกเอาไปขายศูนย์ใหญ่ กะว่าถ้าถูกต่อเหลือล้านเศษก็จะขาย ปรากฏว่าโดนตีเก๊ตามระเบียบ แต่ขอซื้อไว้ดูเป็นตัวอย่างในราคา 1 แสนบาท

พูดง่าย ๆ ถ้าเก๊จริง จะเช่าถึง 1 แสนหรือ
แม้แต่พระสมเด็จที่ขายกันหลายล้าน ลองเอาพระแบบนั้นไปขายเซียนใหญ่บ้าง อย่างมากได้แค่หลักหมื่น

นี่คือผลประโยชน์ที่แบ่งไม่ทั่วถึง ได้เฉพาะคนหมู่น้อยในกลุ่มตัวเอง

ตอนหน้าจะวิเคราะห์ต่อว่าสิ้นปีนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับวงการพระเครื่อง

วิภัชวาที

Friday, June 29, 2012

ราคาพระระดับเบญจภาคี_29 มิย 2555

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน

วันนี้อยู่บ้านทั้งวัน เลยมีเวลาวางแผนเรื่องบทความที่จะลงเว็บต่อไปในอนาคต

ตอนกลางวันไปกินข้าวที่ฟู้ดคอร์ตที่เดอะมอลล์3 ขากลับแวะดูนิตยสารพระเครื่อง เพื่อจะดูเทรนด์ว่าตอนนี้เซียนใหญ่ค่ายยักษ์กำลังจะปั่นพระอะไรอยู่
ก็ดูตลาดพระเงียบ ๆ ไม่คึกคัก อาจเป็นเพราะเพิ่งเปิดเทอม คนเล่นพระที่ยังมีลูกเต้าเรียนหนังสือคงยังไม่ฟื้นจากจ่ายค่าเทอมลูกกระมัง
กลุ่มค่ายนักเขียนรุ่นเก่าก็ยังโปรโมทพระสมเด็จรุ่นวัดระฆัง100ปีไม่เลิก พิมพ์สวย ๆ ขึ้นถึง หมื่นกลางแล้ว เลยฉุดพิมพ์อื่น ๆ ขึ้นตามเป็นแถว
พระหลวงพ่อปานพิมพ์ทรงสัตว์ก็ซาไป คงไม่มีพระให้ซื้อขายแล้วกระมัง (แต่เรายังมีอยู่เป็นกล่องเลย อิ อิ)
ดูในเล่มเห็นหันมาดันพระวัดคู้สลอดจนถึงหลักหมื่นแล้ว
ไม่นานก็จะไม่มีพระให้เล่น

แล้วผู้อ่านรู้ไหมว่าเขาจะเชียร์รุ่นไหนต่อ
กระซิบดัง ๆ เลยว่าต่อไปจะเป็นคิวของพระหลวงพ่อฤาษีลิงดำที่เลียนพิมพ์ทรงสัตว์ของหลวงพ่อปาน สมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโคก่อนจะย้ายไปวัดท่าซุง
รู้แล้วก็ไปหาไว้ก่อนนะ เดี๋ยวจะว่าไม่บอก

ที่ตกใจมาก ๆ ก็คือราคาพระระดับเบญจภาคีที่ไม่ใช่พระสมเด็จโต
หนังสือสปิริตฉบับเดือนเมษายนลงราคาและชื่อเจ้าของพระอย่างน่ากลัว (เพราะมันโคตรแพงเลย)
ตัวอย่างเช่น

พระสมเด็จอรหัง พิมพ์เดียวกับที่ผมเขียนลงเว็บในชุดประวัติพระประวัติศาสตร์ ราคา 5 - 6 แสนแล้ว (ถ้าจำไม่ผิด ผมซื้อมาหลักพันเอง แต่ก็ร่วม 10 ปีมาแล้ว)

พระกำแพงเม็ดขนุน ราคา 8 - 10 ล้าน แพงกว่าพระสมเด็จบางขุนพรหมอีก แต่เห็นชื่อเจ้าของพระแล้วก็หายแปลกใจ เพราะเป็นเซียนหญ่ายยย ถนัดพระเนื้อชินที่เดี๋ยวนี้เก่งหมดทั้งพระเนื้อดินและพระเนื้อผง

พระผงสุพรรณหน้าหนุ่ม ราคา 3 - 4 ล้าน พิมพ์หน้าหนุ่มน่ะเป็นพิมพ์บ๊วยนะนี่ แล้วพิมพ์หน้าแก่มิพุ่งถึง 2 เท่าหรือ

พระหลวงพ่อทวดหลังเตารีด ราคา 2 - 3 แสน แล้วพระเนื้อว่านปี 2497 มิวิ่งชนหลักล้านหรือทะลุไปแล้วสำหรับพิมพ์ใหญ่

น่ากลัวอะ  เซียนใหญ่เวลาดันพระของตัวให้ติดเพดาน
แต่เซียนเล็กเซียนน้อยในสังกัดคงชอบ เพราะพระอื่นก็ถูกดันให้สูงตามไปด้วย เหมือนขึ้นรถเมล์หรือบีทีเอสตอนชั่วโมงเร่งด่วน จะถูกดันเข้าในอย่างไม่ต้องเดินให้เปลืองแรง

มิน่าเล่า ราคาแบบนี้ขายองค์เดียวก็อยู่ได้เป็นปีแล้ว

Sunday, June 24, 2012

ขอโพสต์บทความที่เตรียมไว้แล้ว_25 มิย 2555

สวัสดีท่านผู้อ่าน

ไม่อยู่ 2 อาทิตย์ เพิ่งกลับมาเมื่อวาน
เช็คบทความที่ตั้งนาฬิกาของบล็อกให้ลงอัตโนมัติ ก็ไม่ทำงาน 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาบล็อกเลยไม่มีอะไรใหม่
วันนี้เลยขอแก้ตัวโพสต์ย้อนหลัง 3 บทความโดยไม่แก้วันที่

อ่านของเก่าไปก่อนนะครับ
แล้วค่อยคุยเรื่องล่าสุดอีกทีคราวหน้า

วิภัชวาที

Friday, June 22, 2012

วันนี้ครบรอบ 140 ปี_ 22 เล่มสองมิย 55


22  มิถุนายน 2555

          สวัสดีท่านผู้อ่าน
          วันนี้เป็นวันครบรอบวันมรณภาพของสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี เป็นเวลา 140 ปีพอดี

          ท่านที่อ่านบทความ “มือใหม่เรียนรู้” ใน www.prasomdej.net คงได้ผ่านตาเรื่องพิมพ์ต่าง ๆ อันหลากหลายของพระสมเด็จวัดระฆังแล้ว
          จะเห็นว่ามีหลักฐานเดียวกับที่พูดถึงประวัติท่านว่ามีมากมายหลายสิบพิมพ์ ไม่แต่เฉพาะที่เล่นหากันอยู่ในปัจจุบัน
          เอาเฉพาะพิมพ์ใหญ่ของพระสมเด็จที่ลงหนังสือพระทั้งหลายที่คุยว่าแท้นักแท้หนา ก็มีเป็นสิบพิมพ์แล้ว
          หนังสือพระสมเด็จวัดระฆังที่อยากให้ท่านผู้อ่านมีติดตัวไว้สำหรับเล่มที่เป็นมาตรฐานของวงการพระเครื่อง และที่ผู้เขียนยอมรับได้ คือ
          หนังสือ “พระสมเด็จวัดระฆัง” ในชุด เบญจภาคี ที่สำนักพิมพ์คติ ย่อมาจากหนังสือเล่มใหญ่ที่พิมพ์ปี พ.ศ. 2542
เล่มแรก

          หนังสือเล่มนี้พิมพ์เมื่อปีที่แล้ว (มิถุนายน 2554) หนา 247 หน้า ติดราคาขาย 350 บาทในขนาดที่ใหญ่กว่า A6 หรือพอคเก็ตบุ้คหน่อย สะดวกในการพกพา
          รูปพระในหนังสือพิมพ์ได้ชัดเจน เป็นการถ่ายใหม่ไม่ใช่เอารูปเก่ามาแสกนให้เห็นสีที่ผิดเพี้ยน ถ่ายรูปพระได้งดงามชัดเจนทั้งหน้าและหลัง มีรูปขนาดเท่าองค์จริงให้เห็นด้านล่างด้วย จัดทำโดย วิวัฒน์ อุดมกัลยารักษ์ และ ราม วัชรประดิษฐ์

          ส่วนท่านที่สนใจพระหลากพิมพ์ใน 4 ยุคของสมเด็จโต ผู้เขียนขอแนะนำหนังสือ “ประวัติสมเด็จโต” ซึ่งเป็นปกแข็งหนา 705 หน้า มีทั้งรูปพระสมเด็จและประวัติของพระในหน้าคู่กัน สะดวกในการศึกษา
เล่มสอง
          หนังสือเล่มนี้สืบทอดจากบันทึกของหลวงปู่คำเจ้าอาวาสวัดอมรินทรารามซึ่งเป็นสหธรรมิกกับสมเด็จโต จัดทำโดย แฉล้ม โชติช่วงและมนัส ยอขันธ์
          ราคาฉบับที่ผู้เขียนมีคือ 2,000 บาท พิมพ์ปี พ.ศ. 2538 แต่ได้ข่าวว่าของใหม่พิมพ์ครั้งที่ 2 ราคาขึ้นไปถึง 2,500 บาทแล้ว

          หนังสือ 2 เล่มนี้ใช้เป็นหนังสืออ้างอิงในการศึกษาพระสมเด็จวัดระฆังได้ทั้งคู่
          

Sunday, June 17, 2012

พระสมเด็จลงปกองค์ที่ 2_17 มิย 55


17 มิถุนายน 2555

          สวัสดีท่านผู้อ่าน
          ขอพูดถึงพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อีกองค์ที่ได้รับเกียรติลงหนังสือถึง 2 เล่ม เช่นเดียวกับองค์ปฐม

          นิตยสารพระเครื่อง ชื่อ หลาย ส. เป็นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งแตกตัวมาจากกลุ่มนักเขียนอิสระที่เคยโด่งดังจากหนังสือพระ 2, 3 เล่มในอดีตก่อนจะมีปัญหาจากพิษเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 จนต้องผันตัวเองมาเป็นผู้ส่งเสริมพระสมเด็จประเภทดูยาก เสียผิว หรือที่เซียนไม่นิยม
          ไม่ใช่กลุ่มที่เอาพระสมเด็จอะไรก็ไม่รู้มาประกวดแถวศูนย์การค้าถนนศรีนครินทร์ยุคก่อนจะปรับปรุงใหม่

          หนังสือพระที่ลงรูปพระสมเด็จองค์ปฐมกับพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่นี้อยู่ในเครือเดียวกัน คือเป็นน้องชายและลูกศิษย์ที่อยู่ในวงการสิ่งพิมพ์และหลงเสน่ห์พระเครื่องจนพิมพ์หนังสือเป็นเรื่องเป็นราว และอยู่ในตลาดได้
          สองเล่มนี้มีพระหลากหลายจากหนังสือพระของเซียนทั่วไป และมีราคาพระให้ดูเกือบทุกองค์ เพราะเซียนมีไม่มากนัก
          หนังสือพระเดี๋ยวนี้มีทั้งแบบเซียนทำ คนเขียนหนังสือพระที่ขายพระด้วยทำ ตลอดจนหนังสือประเภทคนทำหนังสืออย่างเดียวไม่ขายพระเลย
          เวลาผู้อ่านเลือกซื้อก็กรุณาเข้าใจด้วยว่าหนังสือแต่ละเล่มมีใครเป็นเจ้าของและมีจุดมุ่งหมายอย่างไร
          พระสมเด็จองค์นี้มีพิมพ์ที่น่าสนใจและมีมวลสารให้เห็นชัด ๆ 2 ชั้นใกล้ศอกซ้ายและกลางฐานชั้นบน  สภาพผิวที่เขียนว่า “แน่นหนักแกร่ง” ทำให้ไม่คุ้นตากับพระที่สมเด็จวัดระฆังที่แก่ปูน แม้ตำราจะบอกว่าเนื้อนี้มีจริง
          ใจผู้เขียนยังชอบพระสมเด็จประเภทแก่มวลสารและเนื้อนุ่ม ๆ มากกว่า
          พิมพ์ทรงก็ดูดี แต่ยังไม่ถูกใจเพราะยังหาความนุ่มนวลของเส้นสายไม่ได้ ดูแข็งทื่อไปหน่อย
          เนื้อพระแม้จะเป็นเนื้อเหลืองที่ชอบ แต่เนื้อที่แก่ปูนทำให้คะแนนตกไปเยอะ
          ถ้าจะถือตามคติการเล่นพระเนื้อผงพิมพ์สมเด็จที่พูดกันติดปากจากคนรุ่นก่อน ๆ ว่า "เล่นแค่ชอบ" ก็ต้องบอกว่า 

         “องค์นี้ยังไม่ชอบ”

Tuesday, June 12, 2012

ความสวยขององค์ปฐม_12 มิย 55


12 มิ.ย. 2555

          สวัสดีท่านผู้อ่าน
          ขอพูดถึงศิลปของพระสมเด็จองค์ปฐมอีกครั้ง

          ในความเห็นของผู้เขียน พระองค์ปฐมมีความสวยงามอลังการ์มากที่สุดก็จะเป็นพิมพ์ของหลวงวิจารณ์เจียระนัยพิมพ์หนึ่ง
          เพราะศิลปะล้ำเลิศเกินกว่าที่จะเป็นฝีมือของช่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นช่างสิบหมู่ หรือช่างราษฎร์ และเป็นพระสมเด็จที่พิมพ์สวยที่สุดพิมพ์หนึ่งในกลุ่มพิมพ์ใหญ่ทั้งหลาย
          เฮียเท้าถึงได้หลงรักและนำเสนอเป็นองค์แรกของการดูพระสมเด็จ ทั้ง ๆ ที่บอกว่าย่ำมาสิบ ๆ ปีจนรองเท้าสึก เพิ่งจะเจอแค่องค์เดียว
          จากศิลปะที่องค์พระล่ำสันและเต็มไปด้วยรายละเอียดอันประณีต ตั้งแต่ เกศ หู ลำคอ สังฆาฎิ รัดไหล่ เส้นชายจีวร 2 ชายมาจบกันที่เข่า เส้นแซมโค้งน้อย ๆ ใต้ตัก เส้นนูนฐานชั้นแรก สั้นยาวเรียวฐานชั้นสอง และร่องกระดานในฐานชั้นล่าง
          เหล่านี้เป็นศิลปะสวยงามของพระพุทธรูปทรงเครื่องสกุลเชียงแสนที่อวบอ้วน สวยสง่าแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ขององค์พระ ฐาน และเส้นซุ้ม
          เรียกได้ว่า ยิ่งดูยิ่งสวย ศิลปะงดงามด้วยเสน่ห์พิมพ์ทรง

          ลองดูสิครับว่าท่านเห็นอะไรที่สวยงามกว่าที่ผู้เขียนบรรยายอีก

          หนังสือบอกว่าพระสมเด็จองค์ที่ลงปกราคาถึงเลขแปดหลัก
          แต่ถ้าท่านคอมเม้นท์ได้ดี พระพิมพ์ที่โชว์ครั้งก่อนที่พิมพ์เลียนองค์ปฐม มีสิทธิเป็นของท่านได้

Thursday, June 7, 2012

องค์ปฐม_ 7 มิย 55


7 มิ.ย. 55
          
          วันนี้เริ่มว่างหลังพักปรับสภาพร่างกายให้ชินกับเวลาที่ต่างกัน 12 ชั่วโมง และเอาโน้ตบุ้คไปลง window  ใหม่หลังจากโดนไวรัสซะงอมแงม

          สองวันก่อนไปร้านหนังสือเลือกนิตยสารพระเครื่องได้ เล่ม ก็เลยอยากวิจารณ์ให้อ่านกันเล่น ๆ
          เล่มแรกลงปกพระเนื้อผง 5 องค์ องค์กลางที่รูปใหญ่สุดคือพระสมเด็จที่ผู้เขียนเรียกว่า “องค์ปฐม” ใน ถอดรหัสพระสมเด็จ วันปฐมฤกษ์ 22 มิ.ย. 51
          เหลือบไปมองนิตยสารอีกเล่มบนแผงซึ่งเป็นแบบไฮโซของแพงลงปกหน้าโดด ๆ เลย เท่ากับว่าเดี๋ยวนี้หาพระสมเด็จยากน่าดู พอได้แต่ละองค์  นิตยสารเล่มต่าง ๆ ก็แย่งกันลง
          องค์นี้ไม่ใช่องค์ดั้งเดิมที่เฮียเท้าเขียนถึง แต่เป็นองค์ที่พิมพ์ทรงใกล้เคียงกัน เป็นพิมพ์ที่มีเอกลักษณ์แปลกกว่าพิมพ์ใหญ่พิมพ์อื่น ๆ ซึ่งผู้เขียนได้เคยเขียนขยายความจากที่เฮียเท้า หรือ คุณวิโรจน์ ใบประเสริฐเขียนลงพรีเชียสแมกกาซีนไว้
          ตอนนั้นสรุปให้ทราบว่าทำไม่ถึงมีได้องค์เดียว ไม่เห็นมีองค์อื่นเลย ทั้งที่ผู้เขียนเสาะหามาตั้งหลายองค์ล้วนเป็นพระเลียนพิมพ์หรือพระลอกพิมพ์ทั้งนั้น
          ตอนนี้ยังเห็นกันหลายองค์รวมทั้งที่ลงนิตยสาร ต.พ. และ สปร. ที่วางขายในปัจจุบันด้วย
          เอาละ รายละเอียดกับข้อมูลเจาะลึกลงไปอ่านในถอดรหัสพระสมเด็จวันที่อ้างถึงก็แล้วกัน

          วันนี้ขอโชว์พระพิมพ์คล้ายกันทั้งด้านหน้าด้านหลัง
องค์ที่ 1 ด้านหน้า

องค์ที่ 1 ด้านหลัง

องค์ที่ 2 ด้านหน้า

องค์ที่ 2 ด้านหลัง

          และขอเรียนท่านผู้อ่านด้วยว่า 2 องค์นี้คือรางวัลที่ผู้เขียนจะมอบให้ท่านผู้อ่านที่คอมเม้นท์เรื่องลักษณะพิมพ์หลวงวิจารณ์ และเรื่องพระองค์ที่แล้วว่าใครสร้าง

          ใครตอบได้โดนใจทั้ง 2 องค์ พระที่โชว์คือรางวัลครับ

Wednesday, May 30, 2012

วิธีดูพิมพ์หลวงวิจารณ์ (Thai)_30 พค 2555

สวัสดีท่านผู้อ่าน

วันนี้ขอยืมโน้ตบุ้คเพื่อนที่ลอสแองเจลลิส ก่อนจะขึ้นเครื่องกลับเมืองไทยวันพรุ่งนี้
โพสต์ครั้งต่อไปอาจเป็นอีกสามสี่วัน เพราะกลับเมืองไทยจะขาดทุนเวลาไปหนึ่งวัน

ขอเล่าถึงวิธีดูพระสมเด็จว่าใช่พิมพ์ของหลวงวิจารณ์เจียรนัยหรือไม่ คงพูดไปเรื่อย ๆ ให้ผู้อ่านได้รับความรู้ ขณะคอยว่ามีท่านใดจะให้ความเห็นบ้างว่าเอกลักษณ์พิมพ์หลวงวิจารณ์ว่าเป็นอย่างไร

การเรียนรู้ทุกอย่างต้องมีหลัก แบบที่เรียกว่าต้องรู้ "หัวใจ"ของเรื่องนั้น ๆ
พระสมเด็จก็เช่นกัน
ท่านจะมีความรู้เรื่องพิมพ์ของหลวงวิจารณ์ได้ ท่านต้องมีภาพในใจให้เห็นหลวงวิจารณ์เป็นตัวเป็นตน ไม่ใช่คนในตำนานที่อ่านเจอ
โดยเฉพาะตอนหลวงวิจารณ์แกะแม่พิมพ์
- ท่านทำอย่างไร
- เริ่มต้นแกะพิมพ์จากไหน
- กรอบกระจกที่เห็นเส้นบังคับพิมพ์มีส่วนเกี่ยวข้องตรงไหน
- ท่านถนัดซ้ายหรือถนัดขวา
- แรงบันดาลใจที่ผลักดันให้มือของช่างหลวงรังสรรค์งานได้อย่างไร

ครั้งหน้าจะบอกให้รู้ว่าพระสมเด็จองค์นี้ มีคุณสมบัติเข้ากับภาพที่เห็นในใจเกี่ยวกับหฃลวงวิจารณ์อย่างไร

Monday, May 28, 2012

วิธีดูพิมพ๋หลวงวิจารณ์_28 พค 2555 (English)

Hi, readers.

As you know my notebook got viruses and I am traveling from US to be back to Thailand.
So, this blog is more convenient to type in English until I can get a computer with Thai keyboard, then next blog will be in Thai.

I will show you how to learn whether any prasomdej is from Luang Vijarnjiaranai or not, so that you can look at those expensive, multi-million Baht amulets on the internet or from magazines, and are able to tell whether it is the work of Luang Vijarn or claim-to-be.

The key is to think of him, not as a legend, but an artist, a human being.
Imagine how he works and what inspires him.
Starting with:
- how he begins
- how important is the frame, and the commanding line at the right of the amulet
- is he left-handed or right-handed
- etc.,

Next time I will let you know whether the amulet I used in this blog and my website, www.prasomdej.net is qualified under my description of Luang Vijarn's amulet or not

Saturday, May 26, 2012

พระใครสร้างเอ่ย_ 26 พค 2555

เรามาพบกันวันเว้นวันอีกครั้ง

โน้ตบุ้คที่ใช้ตอนนี้เดี้ยง อีกตัวแป้นเป็นภาษาอังกฤษพิมพ์ไทยลำบาก
เลยขอลงรูปพระให้ดูไปก่อน`



ด้านหน้า


ด้านหลัง



คำถาม

พระของใครสร้างเอ่ย

ผู้อ่านท่านใดตอบถูก จะมีรางวัลให้

Thursday, May 24, 2012

รูปพระสมเด็จประจำเว็บ_24 พค 55

สวัสดีท่านผู้อ่าน

วันนี้จะทดลองใส่รูปพระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
คือองค์ที่เป็น layout ของเว็บ www.prasomdej.net และเป็น logo ของ blog ด้วย



ด้านหน้า



ด้านหลัง

คำวิจารณ์

พระสมเด็จองค์นี้ได้ครอบครองมาหลายปีแล้ว จนจำไม่ได้ว่าได้มาจากใคร ไม่ใช่เป็นพระที่ชอบอะไรมากมายหรือชอบที่สุด เพียงแต่รูปท่านอยู่ใกล้มือตอนจะออกแบบเว็บไซต์ใหม่ และเห็นว่ามีเนื้อหามวลสารใช้ได้ พิมพ์ทรงก็ดูดี

วิธีดูว่าเป็นพิมพ์หลวงวิจารณ์เจียรนัยหรือเปล่า ประการแรกสุดให้ดูที่เส้นบังคับพิมพ์ที่มาจรดเส้นซุ้มที่กลางองค์พระประมาณข้อศอกซ้าย ถ้ามีก็ใช่ ถ้าไม่มีไม่ใช่หมายความว่าไม่ใช่พระไม่แท้ หากแต่เป็นพระสมเด็จยุคสอง ซึ่งพิมพ์ทรงไม่สวยงามเพราะยังไม่รู้จักใช้เส้นบังคับพิมพ์
แต่อย่าคิดว่าพระสมเด็จที่มีเส้นบังคับพิมพ์จะเป็นของหลวงวิจารณ์แล้วทันสมเด็จโตนะ ที่เห็น ๆ ตามหนังสือพระหลาย ๆ องค์เป็นพระลูกศิษย์ที่สร้างขึ้นทีหลัง ใช้ช่างที่แกะพิมพ์เลียนตัวอย่างพิมพ์หลวงวิจารณ์ เพราะสวยงามกว่าพิมพ์อื่น ๆ

ท่านผู้อ่านฟังแล้วอย่าเพิ่งงง
นี่แหละพระสมเด็จ
ที่คิดว่าไม่ใช่ กลับใช่
ที่คิดว่าใช่ กลับไม่ใช่

คนที่จะเสาะหาพระสมเด็จโตมาขึ้นคออาศัยบารมีของท่านต้องใจเย็นและหมั่นเรียนรู้ ถึงจะมีโอกาสได้พระของท่าน หรือไม่ก็ต้องมีเงินถุงเงินถังไปซื้อจากเซียนชื่อดังอย่างที่เป็นข่าวว่าเจ้าพ่อ duty free ซื้อไปร่วม 200 ล้านบาท

องค์ที่โชว์ก็ไม่ใช่พระหลักล้านหรือเป็นสิบล้านนะ เพราะผู้เขียนเป็นนักสะสมไม่ใช่เซียนพระระดับนั้น แต่บอกได้ว่าเป็นพระแท้ และน่าจะทันสมเด็จโต

ขอฝากการบ้านให้ร่วมสนุก นอกจากเส้นซุ้มแล้ว ยังมีเอกลักษณ์อื่น ๆ ประการใดที่บอกได้ว่าเป็นพิมพ์หลวงวิจารณ์

blog นี้ยังใหม่ คนยังไม่รู้จัก ก็ขอใช้เวลาสักหน่อยให้ท่านได้อ่านแล้ว comment มา 

ก่อนจะเฉลยแล้วบอกว่ามีรางวัลอะไรให้


Tuesday, May 22, 2012

ประเดิมวันแรก 22 พค 55

สวัสดีท่านผู้อ่านทั้งหลาย

นี่เป็นการเขียน blog ครั้งแรกแบบตั้งใจจะพูดเรื่องพระเครื่องโดยเน้นที่พระสมเด็จเป็นส่วนใหญ่
ความจริงผู้เขียนมีเว็บไซต์พระเครื่องอยู่แล้ว ชื่อ www.prasomdej.net
ท่านเข้าไปชมได้เลย เปิดมา 4 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2551 มีบทความทั้งเก่าและใหม่เขียนไว้มากมาย
แล้วนึกอย่างไรถึงมาเปิด blog ที่นี่
ความจริงเว็บไซต์ของผู้เขียนก็เป็น blog ประเภทหนึ่งอยู่แล้ว เพราะเรียงตามวันที่ ๆ เขียนและ update ทุก ๆ 7 วัน
แต่มันไม่ค่อยสะดวก เพราะต้องให้เลขาพิมพ์ และให้ลูกสาว upload ให้ ครั้นจะทำเองก็วุ่นวายเพราะเขาใช้โปรแกรม dreamweaver ซึ่งเราไม่ถนัดและไม่อยากเรียนรู้วิธีใช้ด้วย

เอาล่ะ เขียน blog ลงที่นี่ก็แล้วกัน จะได้ลงได้ถี่หน่อยเพราะลงได้เลย ไม่ต้องคอยใคร
ตั้งใจจะเขียนลงแบบวันเว้นวันถ้าไม่ติดธุระอย่างอื่น
ลงไปเรียนรู้วิธีทำ blog ไป วันหลังจะได้ลงรูปพระสมเด็จสวย ๆ ให้ท่านดูเล่น

วันนี้เอาแค่นี้ก่อน อีก 2 วันพบกันใหม่