Friday, June 29, 2012

ราคาพระระดับเบญจภาคี_29 มิย 2555

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน

วันนี้อยู่บ้านทั้งวัน เลยมีเวลาวางแผนเรื่องบทความที่จะลงเว็บต่อไปในอนาคต

ตอนกลางวันไปกินข้าวที่ฟู้ดคอร์ตที่เดอะมอลล์3 ขากลับแวะดูนิตยสารพระเครื่อง เพื่อจะดูเทรนด์ว่าตอนนี้เซียนใหญ่ค่ายยักษ์กำลังจะปั่นพระอะไรอยู่
ก็ดูตลาดพระเงียบ ๆ ไม่คึกคัก อาจเป็นเพราะเพิ่งเปิดเทอม คนเล่นพระที่ยังมีลูกเต้าเรียนหนังสือคงยังไม่ฟื้นจากจ่ายค่าเทอมลูกกระมัง
กลุ่มค่ายนักเขียนรุ่นเก่าก็ยังโปรโมทพระสมเด็จรุ่นวัดระฆัง100ปีไม่เลิก พิมพ์สวย ๆ ขึ้นถึง หมื่นกลางแล้ว เลยฉุดพิมพ์อื่น ๆ ขึ้นตามเป็นแถว
พระหลวงพ่อปานพิมพ์ทรงสัตว์ก็ซาไป คงไม่มีพระให้ซื้อขายแล้วกระมัง (แต่เรายังมีอยู่เป็นกล่องเลย อิ อิ)
ดูในเล่มเห็นหันมาดันพระวัดคู้สลอดจนถึงหลักหมื่นแล้ว
ไม่นานก็จะไม่มีพระให้เล่น

แล้วผู้อ่านรู้ไหมว่าเขาจะเชียร์รุ่นไหนต่อ
กระซิบดัง ๆ เลยว่าต่อไปจะเป็นคิวของพระหลวงพ่อฤาษีลิงดำที่เลียนพิมพ์ทรงสัตว์ของหลวงพ่อปาน สมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโคก่อนจะย้ายไปวัดท่าซุง
รู้แล้วก็ไปหาไว้ก่อนนะ เดี๋ยวจะว่าไม่บอก

ที่ตกใจมาก ๆ ก็คือราคาพระระดับเบญจภาคีที่ไม่ใช่พระสมเด็จโต
หนังสือสปิริตฉบับเดือนเมษายนลงราคาและชื่อเจ้าของพระอย่างน่ากลัว (เพราะมันโคตรแพงเลย)
ตัวอย่างเช่น

พระสมเด็จอรหัง พิมพ์เดียวกับที่ผมเขียนลงเว็บในชุดประวัติพระประวัติศาสตร์ ราคา 5 - 6 แสนแล้ว (ถ้าจำไม่ผิด ผมซื้อมาหลักพันเอง แต่ก็ร่วม 10 ปีมาแล้ว)

พระกำแพงเม็ดขนุน ราคา 8 - 10 ล้าน แพงกว่าพระสมเด็จบางขุนพรหมอีก แต่เห็นชื่อเจ้าของพระแล้วก็หายแปลกใจ เพราะเป็นเซียนหญ่ายยย ถนัดพระเนื้อชินที่เดี๋ยวนี้เก่งหมดทั้งพระเนื้อดินและพระเนื้อผง

พระผงสุพรรณหน้าหนุ่ม ราคา 3 - 4 ล้าน พิมพ์หน้าหนุ่มน่ะเป็นพิมพ์บ๊วยนะนี่ แล้วพิมพ์หน้าแก่มิพุ่งถึง 2 เท่าหรือ

พระหลวงพ่อทวดหลังเตารีด ราคา 2 - 3 แสน แล้วพระเนื้อว่านปี 2497 มิวิ่งชนหลักล้านหรือทะลุไปแล้วสำหรับพิมพ์ใหญ่

น่ากลัวอะ  เซียนใหญ่เวลาดันพระของตัวให้ติดเพดาน
แต่เซียนเล็กเซียนน้อยในสังกัดคงชอบ เพราะพระอื่นก็ถูกดันให้สูงตามไปด้วย เหมือนขึ้นรถเมล์หรือบีทีเอสตอนชั่วโมงเร่งด่วน จะถูกดันเข้าในอย่างไม่ต้องเดินให้เปลืองแรง

มิน่าเล่า ราคาแบบนี้ขายองค์เดียวก็อยู่ได้เป็นปีแล้ว

Sunday, June 24, 2012

ขอโพสต์บทความที่เตรียมไว้แล้ว_25 มิย 2555

สวัสดีท่านผู้อ่าน

ไม่อยู่ 2 อาทิตย์ เพิ่งกลับมาเมื่อวาน
เช็คบทความที่ตั้งนาฬิกาของบล็อกให้ลงอัตโนมัติ ก็ไม่ทำงาน 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาบล็อกเลยไม่มีอะไรใหม่
วันนี้เลยขอแก้ตัวโพสต์ย้อนหลัง 3 บทความโดยไม่แก้วันที่

อ่านของเก่าไปก่อนนะครับ
แล้วค่อยคุยเรื่องล่าสุดอีกทีคราวหน้า

วิภัชวาที

Friday, June 22, 2012

วันนี้ครบรอบ 140 ปี_ 22 เล่มสองมิย 55


22  มิถุนายน 2555

          สวัสดีท่านผู้อ่าน
          วันนี้เป็นวันครบรอบวันมรณภาพของสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี เป็นเวลา 140 ปีพอดี

          ท่านที่อ่านบทความ “มือใหม่เรียนรู้” ใน www.prasomdej.net คงได้ผ่านตาเรื่องพิมพ์ต่าง ๆ อันหลากหลายของพระสมเด็จวัดระฆังแล้ว
          จะเห็นว่ามีหลักฐานเดียวกับที่พูดถึงประวัติท่านว่ามีมากมายหลายสิบพิมพ์ ไม่แต่เฉพาะที่เล่นหากันอยู่ในปัจจุบัน
          เอาเฉพาะพิมพ์ใหญ่ของพระสมเด็จที่ลงหนังสือพระทั้งหลายที่คุยว่าแท้นักแท้หนา ก็มีเป็นสิบพิมพ์แล้ว
          หนังสือพระสมเด็จวัดระฆังที่อยากให้ท่านผู้อ่านมีติดตัวไว้สำหรับเล่มที่เป็นมาตรฐานของวงการพระเครื่อง และที่ผู้เขียนยอมรับได้ คือ
          หนังสือ “พระสมเด็จวัดระฆัง” ในชุด เบญจภาคี ที่สำนักพิมพ์คติ ย่อมาจากหนังสือเล่มใหญ่ที่พิมพ์ปี พ.ศ. 2542
เล่มแรก

          หนังสือเล่มนี้พิมพ์เมื่อปีที่แล้ว (มิถุนายน 2554) หนา 247 หน้า ติดราคาขาย 350 บาทในขนาดที่ใหญ่กว่า A6 หรือพอคเก็ตบุ้คหน่อย สะดวกในการพกพา
          รูปพระในหนังสือพิมพ์ได้ชัดเจน เป็นการถ่ายใหม่ไม่ใช่เอารูปเก่ามาแสกนให้เห็นสีที่ผิดเพี้ยน ถ่ายรูปพระได้งดงามชัดเจนทั้งหน้าและหลัง มีรูปขนาดเท่าองค์จริงให้เห็นด้านล่างด้วย จัดทำโดย วิวัฒน์ อุดมกัลยารักษ์ และ ราม วัชรประดิษฐ์

          ส่วนท่านที่สนใจพระหลากพิมพ์ใน 4 ยุคของสมเด็จโต ผู้เขียนขอแนะนำหนังสือ “ประวัติสมเด็จโต” ซึ่งเป็นปกแข็งหนา 705 หน้า มีทั้งรูปพระสมเด็จและประวัติของพระในหน้าคู่กัน สะดวกในการศึกษา
เล่มสอง
          หนังสือเล่มนี้สืบทอดจากบันทึกของหลวงปู่คำเจ้าอาวาสวัดอมรินทรารามซึ่งเป็นสหธรรมิกกับสมเด็จโต จัดทำโดย แฉล้ม โชติช่วงและมนัส ยอขันธ์
          ราคาฉบับที่ผู้เขียนมีคือ 2,000 บาท พิมพ์ปี พ.ศ. 2538 แต่ได้ข่าวว่าของใหม่พิมพ์ครั้งที่ 2 ราคาขึ้นไปถึง 2,500 บาทแล้ว

          หนังสือ 2 เล่มนี้ใช้เป็นหนังสืออ้างอิงในการศึกษาพระสมเด็จวัดระฆังได้ทั้งคู่
          

Sunday, June 17, 2012

พระสมเด็จลงปกองค์ที่ 2_17 มิย 55


17 มิถุนายน 2555

          สวัสดีท่านผู้อ่าน
          ขอพูดถึงพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อีกองค์ที่ได้รับเกียรติลงหนังสือถึง 2 เล่ม เช่นเดียวกับองค์ปฐม

          นิตยสารพระเครื่อง ชื่อ หลาย ส. เป็นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งแตกตัวมาจากกลุ่มนักเขียนอิสระที่เคยโด่งดังจากหนังสือพระ 2, 3 เล่มในอดีตก่อนจะมีปัญหาจากพิษเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 จนต้องผันตัวเองมาเป็นผู้ส่งเสริมพระสมเด็จประเภทดูยาก เสียผิว หรือที่เซียนไม่นิยม
          ไม่ใช่กลุ่มที่เอาพระสมเด็จอะไรก็ไม่รู้มาประกวดแถวศูนย์การค้าถนนศรีนครินทร์ยุคก่อนจะปรับปรุงใหม่

          หนังสือพระที่ลงรูปพระสมเด็จองค์ปฐมกับพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่นี้อยู่ในเครือเดียวกัน คือเป็นน้องชายและลูกศิษย์ที่อยู่ในวงการสิ่งพิมพ์และหลงเสน่ห์พระเครื่องจนพิมพ์หนังสือเป็นเรื่องเป็นราว และอยู่ในตลาดได้
          สองเล่มนี้มีพระหลากหลายจากหนังสือพระของเซียนทั่วไป และมีราคาพระให้ดูเกือบทุกองค์ เพราะเซียนมีไม่มากนัก
          หนังสือพระเดี๋ยวนี้มีทั้งแบบเซียนทำ คนเขียนหนังสือพระที่ขายพระด้วยทำ ตลอดจนหนังสือประเภทคนทำหนังสืออย่างเดียวไม่ขายพระเลย
          เวลาผู้อ่านเลือกซื้อก็กรุณาเข้าใจด้วยว่าหนังสือแต่ละเล่มมีใครเป็นเจ้าของและมีจุดมุ่งหมายอย่างไร
          พระสมเด็จองค์นี้มีพิมพ์ที่น่าสนใจและมีมวลสารให้เห็นชัด ๆ 2 ชั้นใกล้ศอกซ้ายและกลางฐานชั้นบน  สภาพผิวที่เขียนว่า “แน่นหนักแกร่ง” ทำให้ไม่คุ้นตากับพระที่สมเด็จวัดระฆังที่แก่ปูน แม้ตำราจะบอกว่าเนื้อนี้มีจริง
          ใจผู้เขียนยังชอบพระสมเด็จประเภทแก่มวลสารและเนื้อนุ่ม ๆ มากกว่า
          พิมพ์ทรงก็ดูดี แต่ยังไม่ถูกใจเพราะยังหาความนุ่มนวลของเส้นสายไม่ได้ ดูแข็งทื่อไปหน่อย
          เนื้อพระแม้จะเป็นเนื้อเหลืองที่ชอบ แต่เนื้อที่แก่ปูนทำให้คะแนนตกไปเยอะ
          ถ้าจะถือตามคติการเล่นพระเนื้อผงพิมพ์สมเด็จที่พูดกันติดปากจากคนรุ่นก่อน ๆ ว่า "เล่นแค่ชอบ" ก็ต้องบอกว่า 

         “องค์นี้ยังไม่ชอบ”

Tuesday, June 12, 2012

ความสวยขององค์ปฐม_12 มิย 55


12 มิ.ย. 2555

          สวัสดีท่านผู้อ่าน
          ขอพูดถึงศิลปของพระสมเด็จองค์ปฐมอีกครั้ง

          ในความเห็นของผู้เขียน พระองค์ปฐมมีความสวยงามอลังการ์มากที่สุดก็จะเป็นพิมพ์ของหลวงวิจารณ์เจียระนัยพิมพ์หนึ่ง
          เพราะศิลปะล้ำเลิศเกินกว่าที่จะเป็นฝีมือของช่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นช่างสิบหมู่ หรือช่างราษฎร์ และเป็นพระสมเด็จที่พิมพ์สวยที่สุดพิมพ์หนึ่งในกลุ่มพิมพ์ใหญ่ทั้งหลาย
          เฮียเท้าถึงได้หลงรักและนำเสนอเป็นองค์แรกของการดูพระสมเด็จ ทั้ง ๆ ที่บอกว่าย่ำมาสิบ ๆ ปีจนรองเท้าสึก เพิ่งจะเจอแค่องค์เดียว
          จากศิลปะที่องค์พระล่ำสันและเต็มไปด้วยรายละเอียดอันประณีต ตั้งแต่ เกศ หู ลำคอ สังฆาฎิ รัดไหล่ เส้นชายจีวร 2 ชายมาจบกันที่เข่า เส้นแซมโค้งน้อย ๆ ใต้ตัก เส้นนูนฐานชั้นแรก สั้นยาวเรียวฐานชั้นสอง และร่องกระดานในฐานชั้นล่าง
          เหล่านี้เป็นศิลปะสวยงามของพระพุทธรูปทรงเครื่องสกุลเชียงแสนที่อวบอ้วน สวยสง่าแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ขององค์พระ ฐาน และเส้นซุ้ม
          เรียกได้ว่า ยิ่งดูยิ่งสวย ศิลปะงดงามด้วยเสน่ห์พิมพ์ทรง

          ลองดูสิครับว่าท่านเห็นอะไรที่สวยงามกว่าที่ผู้เขียนบรรยายอีก

          หนังสือบอกว่าพระสมเด็จองค์ที่ลงปกราคาถึงเลขแปดหลัก
          แต่ถ้าท่านคอมเม้นท์ได้ดี พระพิมพ์ที่โชว์ครั้งก่อนที่พิมพ์เลียนองค์ปฐม มีสิทธิเป็นของท่านได้

Thursday, June 7, 2012

องค์ปฐม_ 7 มิย 55


7 มิ.ย. 55
          
          วันนี้เริ่มว่างหลังพักปรับสภาพร่างกายให้ชินกับเวลาที่ต่างกัน 12 ชั่วโมง และเอาโน้ตบุ้คไปลง window  ใหม่หลังจากโดนไวรัสซะงอมแงม

          สองวันก่อนไปร้านหนังสือเลือกนิตยสารพระเครื่องได้ เล่ม ก็เลยอยากวิจารณ์ให้อ่านกันเล่น ๆ
          เล่มแรกลงปกพระเนื้อผง 5 องค์ องค์กลางที่รูปใหญ่สุดคือพระสมเด็จที่ผู้เขียนเรียกว่า “องค์ปฐม” ใน ถอดรหัสพระสมเด็จ วันปฐมฤกษ์ 22 มิ.ย. 51
          เหลือบไปมองนิตยสารอีกเล่มบนแผงซึ่งเป็นแบบไฮโซของแพงลงปกหน้าโดด ๆ เลย เท่ากับว่าเดี๋ยวนี้หาพระสมเด็จยากน่าดู พอได้แต่ละองค์  นิตยสารเล่มต่าง ๆ ก็แย่งกันลง
          องค์นี้ไม่ใช่องค์ดั้งเดิมที่เฮียเท้าเขียนถึง แต่เป็นองค์ที่พิมพ์ทรงใกล้เคียงกัน เป็นพิมพ์ที่มีเอกลักษณ์แปลกกว่าพิมพ์ใหญ่พิมพ์อื่น ๆ ซึ่งผู้เขียนได้เคยเขียนขยายความจากที่เฮียเท้า หรือ คุณวิโรจน์ ใบประเสริฐเขียนลงพรีเชียสแมกกาซีนไว้
          ตอนนั้นสรุปให้ทราบว่าทำไม่ถึงมีได้องค์เดียว ไม่เห็นมีองค์อื่นเลย ทั้งที่ผู้เขียนเสาะหามาตั้งหลายองค์ล้วนเป็นพระเลียนพิมพ์หรือพระลอกพิมพ์ทั้งนั้น
          ตอนนี้ยังเห็นกันหลายองค์รวมทั้งที่ลงนิตยสาร ต.พ. และ สปร. ที่วางขายในปัจจุบันด้วย
          เอาละ รายละเอียดกับข้อมูลเจาะลึกลงไปอ่านในถอดรหัสพระสมเด็จวันที่อ้างถึงก็แล้วกัน

          วันนี้ขอโชว์พระพิมพ์คล้ายกันทั้งด้านหน้าด้านหลัง
องค์ที่ 1 ด้านหน้า

องค์ที่ 1 ด้านหลัง

องค์ที่ 2 ด้านหน้า

องค์ที่ 2 ด้านหลัง

          และขอเรียนท่านผู้อ่านด้วยว่า 2 องค์นี้คือรางวัลที่ผู้เขียนจะมอบให้ท่านผู้อ่านที่คอมเม้นท์เรื่องลักษณะพิมพ์หลวงวิจารณ์ และเรื่องพระองค์ที่แล้วว่าใครสร้าง

          ใครตอบได้โดนใจทั้ง 2 องค์ พระที่โชว์คือรางวัลครับ